แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยมา 30 ปีแล้ว ผลการ ตรวจสุขภาพประจำปีแพทย์ลงความเห็นว่า โจทก์สุขภาพพอใช้ ซึ่งเท่ากับเป็นการชี้ว่าโจทก์มีอนามัยหรือสุขภาพไม่ สมบูรณ์ สาเหตุหนึ่ง และจำเลยยังตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อ พิจารณาถึงสมรรถภาพการทำงานของโจทก์ คณะทำงานมีความเห็น ว่าโจทก์ผลงานไม่ดีขึ้น ไม่เอาใจใส่ต่องาน และไม่ ติดตามตรวจสอบผลงานสามารถหาคนแทนได้ อีกสาเหตุหนึ่ง ด้วย อันเข้าหลักเกณฑ์ตามข้อบังคับจำเลยที่จะให้โจทก์ออกจากงานฐานทำงานนานทั้งสองสาเหตุดังนี้ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ฐานทำงานนาน จึงไม่ใช่เป็นการ เลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุทำงานนาน มีความรู้ความสามารถไม่พอดีกับตำแหน่งหน้าที่ อาจหาผู้อื่นแทนที่ดีกว่าได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง การกระทำของจำเลยเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ฐานทำงานนาน อันเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายและเป็นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของข้อบังคับจำเลยทุกประการจึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 201 ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอนฯ ข้อ 9 ระบุว่า “เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทยเห็นสมควรให้ผู้ใดออกจากงาน ให้ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยมีอำนาจสั่งให้พนักงานผู้นั้นออกจากงานได้ในกระณีดังต่อไปนี้ 9.2 ฐานทำงานนาน คือ เมื่อพนักงานผู้ใดปฏิบัติงานติดต่อกันมาเป็นเวลาสามสิบปีบริบูรณ์และเป็นผู้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
9.2.1 มีความรู้ความสามารถไม่พอดีกับตำแหน่งหน้าที่ เช่น ปฏิบัติงานเฉื่อยชา ล่าช้า หรือปฏิบัติงานผิดพลาดอยู่เสมอ หรือมีความรู้ความสามารถเสมอตัวไม่ดีไม่เลว แต่หาผู้อื่นแทนที่ดีกว่าได้ 9.2.3 มีอนามัยหรือสุขภาพไม่สมบูรณ์”
ได้ความว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยซึ่งได้ปฏิบัติงานติดต่อกันมาเป็นเวลา 30 ปีบริบูรณ์แล้ว ผลการตรวจสุขภาพประจำปี แพทย์ลงความเห็นว่าโจทก์สุขภาพพอใช้ การให้ความเห็นของแพทย์ดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ซึ่งได้จำแนกผู้ที่ได้รับการตรวจสุขภาพเป็น 4 ประเภท คือ (1) สภาพร่างกายดีมาก (2) สภาพร่างกายดี (3) สภาพร่างกายพอใช้ (4) สภาพร่างกายไม่ดีโดยเฉพาะตามข้อ 3 ที่ว่า สภาพร่างกายพอใช้นั้นได้กำหนดความหมายว่า ร่างกายมีความพิการเล็กน้อย หรือมีโรคเรื้อรังแต่ไม่ร้ายแรง หรือสุขภาพไม่สมบูรณ์การที่แพทย์ลงความเห็นในการตรวจโรคประจำปีของโจทก์ดังกล่าว เท่ากับเป็นการชี้แสดงว่าโจทก์มีอนามัยหรือสุขภาพไม่สมบูรณ์ตามความหมายในข้อบังคับจำเลย ฉบับที่ 201 ข้อ 9.2.3 นั่นเอง จำเลยจึงตั้งคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาถึงสมรรถภาพการทำงานของโจทก์อีกชั้นหนึ่งว่าสมควรให้ออกจากงานฐานทำงานมานานหรือไม่ คณะทำงานอันประกอบด้วยพนักงานระดับผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของจำเลยได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า โจทก์ผลงานไม่ดีขึ้น ไม่เอาใจใส่ต่องาน และไม่ติดตามตรวจสอบผลงาน สามารถหาคนแทนได้ อันเข้าหลักเกณฑ์ตามข้อบังคับจำเลยข้อ 9.2.1 ที่จะให้โจทก์ออกจากงานฐานทำงานอีกเหตุหนึ่งด้วย ดังนั้น การที่โจทก์ออกจากงานด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหาย
พิพากษายืน