คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1884/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสี่ต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวของโจทก์แต่ละคนตามลำพังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการละเมิดและการรับประกันภัยค้ำจุนซึ่งทำให้โจทก์แต่ละคนเสียหายแม้จะฟ้องรวมกันมาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน ปรากฏว่าค่าเสียหายที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องมีจำนวนไม่เกินห้าหมื่นบาท จำเลยที่ 3 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา248

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 รับประกันภัยรถยนต์ซึ่งโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองไว้ โจทก์ที่ 3 เป็นผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าว โจทก์ที่ 5 เป็นผู้โดยสารมาในรถ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเอาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 3 ด้วยความประมาทชนรถที่โจทก์ที่ 3 ขับมาเสียหาย ทำให้โจทก์ทั้งสี่เสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชำระเงินให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จำนวน 27,133 บาท 34,937.50 บาท 8,406.50 บาท และ 1,247 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง

จำเลยทั้งสามให้การว่าไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 3 คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงถึงที่สุดชั้นศาลอุทธรณ์

ศาลฎีกาตรวจวินิจฉัยว่า เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวของโจทก์แต่ละคนตามลำพัง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการละเมิดและการรับประกันภัยค้ำจุนซึ่งทำให้โจทก์แต่ละคนเสียหาย แม้จะฟ้องรวมกันก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน ปรากฏว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์แต่ละคนเป็นเงิน 27,133 บาท 34,737.50 บาท 8,406.50 บาท และ 1,247 บาท ตามลำดับ ซึ่งค่าเสียหายที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องมีจำนวนไม่เกินห้าหมื่นบาท พิเคราะห์ฎีกาของจำเลยที่ 3 แล้ว จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างและไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ขับรถยนต์เลขทะเบียน น.ฐ.03701 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ไม่ได้รับประกันภัยรถยนต์เลขทะเบียน น.ฐ.03701 ไว้จากจำเลยที่ 2 เหตุมิได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 และหากโจทก์เสียหายก็เพียงเล็กน้อย ล้วนเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 ให้ไม่ได้

พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 3 คืนค่าธรรมเนียมชั้นยื่นฎีกาให้จำเลยที่ 3ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share