คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 510/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ถ้าศาลตรวจคำฟ้องคำให้การจากคำฟ้องและหรือคำให้การได้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติเพียงพอที่จะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีได้แล้ว การสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปก็ไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาจะเป็นพยานที่ฟุ่มเฟือยเกินสมควรหรือเป็นการประวิงคดีให้ชักช้า. ศาลมีอำนาจสั่งงดสืบพยานเช่นว่านั้น หรือพยานหลักฐานอื่นต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง เจ้าหน้าที่ชั้นต้นร่างคำสั่งเพื่อให้ผู้มีอำนาจออกคำสั่งตรวจดูชั้นหนึ่งก่อนว่า จะเป็นร่างคำสั่งที่มีข้อเท็จจริง และการปรับบทลงโทษตรงตามมติของ อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทยหรือไม่หากไม่ตรงหรือไม่ถูกต้องผู้มีอำนาจตรวจร่างคำสั่งหรือผู้มีอำนาจออกคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เป็นนิติบุคคลมีพลตำรวจเอกสุรพล จุละพราหมณ์ เป็นอธิบดีมีอำนาจตามกฎหมายรับผิดชอบบริหารงาน เมื่อ พ.ศ. 2512 โจทก์รับราชการดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองสถานีตำรวจภูธรอำเภอเชียงใหม่ จังหวัดนครศรีธรรมราช โจทก์ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยตามพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน มีการตั้งกรรมการสอบสวนขึ้นรวม 5 คำสั่ง คณะกรรมการสอบสวนเสร็จได้เสนอสำนวนการสอบสวนผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงผู้บัญชาการตำรวจภูธรผู้รับมอบอำนาจจากอธิบดีกรมตำรวจ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรทำความเห็นใน 4 สำนวนแรกว่าไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะเรียกร้องเอาเงินตามที่ถูกกล่าวหา แต่การกระทำของโจทก์ไม่ค่อยเป็นไปตามระเบียบแบบแผน เห็นควรเรียกตัวเข้ารับราชการตามเดิมและกักขัง 30 วัน ส่วนสำนวนที่สอบสวนตามคำสั่งที่ 1210/2512 พลตำรวจโทจำรัส มังคลารัตน์ มีความเห็นว่าโจทก์ไม่มีความผิด แต่จำเลยกลับทำความเห็นเสนอไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทยว่าควรปลดโจทก์ออกจากราชการ อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย พิจารณาแล้วเห็นชอบตามที่จำเลยเสนอและจำเลยได้ออกคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะข้อกล่าวหาในคำสั่งปลดแต่ละข้อไม่มีการสอบสวนเป็นการขัดกับกฎ ก.พ.ฉบับที่ 60 ซึ่งใช้อยู่ในขณะเกิดเหตุ และคำสั่งดังกล่าวพิมพ์มาจากร่างที่ถูกแก้ไขโจทก์อุทธรณ์คำสั่งลงโทษไปยังนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน ก.พ. ก.พ.ยกคำร้องของโจทก์ตามความเห็นของ อ.ก.พ.วิสามัญเกี่ยวกับวินัยของ ก.พ. โจทก์เป็นว่าอ.ก.พ.วิสามัญเกี่ยวกับวินัยของ ก.พ.พิจารณาเรื่องของโจทก์ไม่ถูกต้องทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้พิพากษาว่า คำสั่งที่ให้ปลดโจทก์ออกจากราชการตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลบังคับ ให้ศาลสั่งยกเลิกเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะการลงโทษโจทก์ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2497 เป็นมติของคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนกระทรวงมหาดไทย (อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทย) ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาโทษจำเลยเป็นแต่เพียงผู้ออกคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการตามมติของ อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 84, 85, 86 และ 87แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2497 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับฝ่ายบริหารโดยเฉพาะ คดีนี้โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งต่อหัวหน้าคณะปฏิวัติผู้ใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 104 หัวหน้าคณะปฏิวัติพิจารณาแล้วเห็นว่าคำสั่งลงโทษโจทก์ชอบด้วยกฎหมาย จึงยกอุทธรณ์ของโจทก์ คำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติถึงที่สุดตาม มาตรา 105 คดีโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยหลายเรื่อง มีการตั้งกรรมการสอบสวนทุกเรื่องจำเลยพิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์ประพฤติตนไม่สมควร บกพร่องต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงจำเลยดำเนินการตามขั้นตอน ตามระเบียบแบบแผนโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องสืบพยานโจทก์จำเลยสั่งงดสืบพยานทั้งสองฝ่ายแล้ววินิจฉัยว่า คำสั่งของจำเลยที่ปลดโจทก์ออกจากราชการเป็นคำสั่งลงโทษทางวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนถือว่าเป็นอำนาจตามกฎหมายของฝ่ายบริหารโดยเฉพาะ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ถ้าศาลตรวจคำฟ้อง คำให้การจากคำฟ้องและ/หรือคำให้การได้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติเพียงพอที่จะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีได้แล้ว การสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปก็ไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาจะเป็นพยานที่ฟุ่มเฟือยเกินสมควร หรือประวิงคดีให้ชักช้า ศาลมีอำนาจสั่งงดสืบพยานเช่นว่านั้นหรือพยานหลักฐานอื่นต่อไปได้ ตามมาตรา 86 วรรค 2 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่าคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการไม่ชอบเพราะคำสั่งฉบับนี้มาจากต้นร่างคำสั่งที่ผู้ตรวจร่างแก้ไขเพิ่มเติมเอาตามใจชอบนั้น เห็นว่าต้นร่างคำสั่งที่เจ้าหน้าที่ชั้นต้นร่างขึ้นเพื่อให้ผู้มีอำนาจออกคำสั่งตรวจดูชั้นหนึ่งก่อนว่าจะเป็นร่างคำสั่งที่มีข้อเท็จจริงและการปรับบทลงโทษตรงกับมติของ อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทยหรือไม่ หากไม่ตรงหรือไม่ถูกต้องผู้มีอำนาจตรวจร่างคำสั่งหรือผู้มีอำนาจออกคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติม ให้ถูกต้องได้ เพราะต้นร่างคำสั่งดังกล่าวยังไม่ใช่เอกสารทางราชการการแก้ไขต้นร่างคำสั่งดังกล่าวแล้วออกมาเป็นคำสั่งท้ายฟ้องหมายเลข 1 ไม่ทำให้คำสั่งฉบับนี้เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบแต่ประการใด

พิพากษายืน

Share