คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2663/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พนักงานของธนาคารจำเลย สาขานนทบุรีผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการ ทำหนังสือร้องเรียนว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ทำให้ธนาคารจำเลยเสียหายกรรมการผู้จัดการธนาคารจำเลยสั่งให้เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของธนาคารไปสอบสวนแล้ว ได้ความว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของธนาคาร มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตปล่อยเงินให้กู้ยืมไปโดยไม่มีหลักประกันทำให้ธนาคารเสียหาย เจ้าหน้าที่ผู้สอบสวนรายงานว่า โจทก์ปฏิบัติงานส่อไปในทางทุจริต ฝ่าฝืนระเบียบวินัยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของธนาคารจำเลย ไม่มาทำงานและเลิกงานตามเวลาที่กำหนด รายงานการมาทำงานและเลิกงานเท็จ เสพสุรายาเมาเป็นอาจิณและไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ควรให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้จัดการสาขานนทบุรี จำเลยจึงมีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งและให้เป็นที่ปรึกษาแทนโจทก์ลาออกตามพฤติการณ์ดังกล่าวมีเหตุทำให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่า นอกจากโจทก์จะฝ่าฝืนระเบียบวินัยของจำเลยในกรณีที่ร้ายแรงแล้ว โจทก์ยังทุจริตต่อหน้าที่และจงใจทำให้จำเลยเสียหาย อันจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(1)(2) และ (3) จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2(5) ข้อ 8 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 26 ซึ่งแก้ไขโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2517

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของธนาคารจำเลย ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการธนาคารจำเลยสาขานนทบุรี จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในตำแหน่งผู้จัดการให้เป็นแค่ที่ปรึกษา โดยให้ค่าพาหนะ ไม่ให้ค่าจ้างเป็นการเลิกจ้างโจทก์ โจทก์เป็นลูกจ้างประจำมา 13 ปี จำเลยเลิกจ้างต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) ข้อ 46(3) และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 2(5) โจทก์ทวงเงินค่าชดเชยแล้วจำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้ลงโทษตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103เรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 2(5) ข้อ 8 ประกาศ ณ วันที่ 16 มีนาคม 2515และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) ข้อ 46(3) ประกาศ ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2517

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว สั่งว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้วไม่จ่ายเงินค่าชดเชยให้พิพากษาว่ามีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16มีนาคม 2515 ข้อ 8 ปรับ 5,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามพยานหลักฐานของจำเลยว่านายสถาพรกับพวกรวม 9 คน ซึ่งเป็นพนักงานธนาคารจำเลยสาขานนทบุรีและอยู่ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ ทำหนังสือร้องเรียนกล่าวหาโจทก์ว่า ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้จัดการโดยมิชอบ ทำให้ธนาคารจำเลยเสียหาย และมีหนังสือร้องเรียนยืนยันในเวลาต่อมาอีก 2 ฉบับ กรรมการผู้จัดการธนาคารจำเลยได้สั่งให้นายกุญชรและนายถนอม เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของธนาคารไปสอบสวนแล้วการสอบสวนได้ความว่า โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของธนาคาร มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต โดยโจทก์ให้นางสาวจำเรียน ลูกหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีไปถึงกำหนดลูกหนี้ไม่ชำระลูกหนี้รายนี้เป็นคนรับใช้ในบ้านน้องสาวโจทก์ และโจทก์กับน้องสาวนำเงินที่กู้ไปใช้ทั้งสิ้นทางธนาคารจำเลยให้โจทก์ชำระหนี้รายนี้แทน แต่โจทก์เพิกเฉย และโจทก์ให้ลูกหนี้ชื่อนายบุญช่วย เตียตระกูล กู้เบิกเงินเกินบัญชี ลูกหนี้ได้มอบเงินให้กับนายวิเชียรพนักงานซึ่งออกจากงานไปแล้วมาให้โจทก์ แต่โจทก์มิได้นำเงินเข้าบัญชีของลูกหนี้ดังกล่าว นอกจากนี้มีการปล่อยเงินให้กู้ยืมไปโดยไม่มีหลักประกันทำให้ธนาคารเสียหาย เจ้าหน้าที่ผู้ไปสอบสวนได้รายงานว่า โจทก์ปฏิบัติงานมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตฝ่าฝืนระเบียบวินัยตามคำสั่งที่ 5/2516 เรื่องระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ในข้อที่ว่าไม่มาทำงานและเลิกงานตามเวลาที่กำหนดรายงานการมาทำงานและเลิกทำงานเป็นเท็จ เสพสุรายาเมาเป็นอาจิณและไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต กับมีความเห็นให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้จัดการสาขานนทบุรีจำเลยจึงมีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งดังกล่าว และให้โจทก์เป็นที่ปรึกษาของธนาคารจำเลยสาขานนทบุรี ต่อมาโจทก์ยื่นใบลาออกจำเลยได้จ่ายเงินสะสมและเงินวันลาให้แต่ไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพฤติการณ์ดังกล่าวมามีเหตุทำให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่านอกจากโจทก์จะฝ่าฝืนระเบียบวินัยตามคำสั่งที่ 5/2516 ของจำเลยในกรณีที่ร้ายแรงแล้วโจทก์ยังทุจริตต่อหน้าที่และจงใจทำให้จำเลยเสียหาย อันจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(1)(2) และ (3) จำเลยจึงไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง

พิพากษายืน

Share