แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ห้างโจทก์มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการตั้ง โรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ รวมทั้งโรงงานทำถุงเท้า โรงงานทำรองเท้า และโรงงานทำสิ่งถักทอทุกชนิดจำหน่ายถุงเท้า รองเท้าและอื่นๆ การขอจดทะเบียนการค้าตามประมวลรัษฎากร โจทก์ก็ระบุว่าเป็นการขายของชนิด 1(ก) สินค้าและการค้า ส่วนใหญ่เป็นจำพวกถุงเท้าและโจทก์ได้ยื่น แบบแสดงรายการการค้าตามมาตรา 84แห่งประมวลรัษฎากรแสดงว่า โจทก์ประกอบการค้า ประเภท 1การขายของชนิด 1(ก) ผลิต ถุงเท้าจำหน่าย ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้า ว่า โจทก์ประกอบการค้าประเภท 4การรับจ้างทำของเลย ดังนั้นเมื่อโจทก์ประกอบการค้าจัดส่งถุงเท้าให้กรมพลาธิการทหารบก โดยทำสัญญากับกองทัพบกเป็นสัญญาจ้างทำถุงเท้าบ้าง สัญญาซื้อขายถุงเท้าบ้าง และคุณลักษณะเฉพาะของถุงเท้า รูปแบบถุงเท้าตามที่กำหนดไว้ ท้ายสัญญาจ้างหรือสัญญาซื้อขายถุงเท้าระหว่าง กองทัพบกกับห้างโจทก์ ก็ใช้คุณลักษณะเฉพาะแสดงว่า กองทัพบกมีวัตถุประสงค์ที่จะได้กรรมสิทธิ์ในถุงเท้าที่มี คุณภาพและคุณลักษณะตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเท่านั้น ถึง แม้จะระบุชื่อว่าเป็นสัญญาจ้างหรือสัญญาซื้อขายก็ไม่สำคัญเห็นได้ว่าโจทก์ประกอบกิจการโรงงานทอถุงเท้าจำหน่ายและได้ จำหน่ายให้กองทัพบก โดยโจทก์ได้รับมูลค่าของถุงเท้าเป็น ค่าตอบแทน โจทก์จึงเป็นผู้ทำให้ มีขึ้นซึ่งสินค้า ถุงเท้า ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ผลิต ตามมาตรา 77แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่เสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 7ของรายรับในประเภท 1 การขายของ ชนิด 1(ก) ตาม บัญชีอัตราภาษีการค้าแห่งประมวลรัษฎากร หมวด 4
โจทก์เคยชำระภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 7 ของรายรับ โดยยอมรับว่าเป็นผู้ผลิตถุงเท้าจำหน่ายมาก่อนแล้ว ต่อมา จึงได้ชำระภาษีเป็นร้อยละ 2 โดยแสดงลักษณะของการค้าว่า ผลิตถุงเท้าจำหน่ายเช่นกัน ดังนี้ ย่อมทำให้จำนวนภาษีที่โจทก์ชำระลดน้อยลงกว่าที่ควรต้องเสีย แสดงว่าโจทก์มี เจตนาหลีกเลี่ยงภาษี กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่ศาลจะลดเบี้ยปรับให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล เมื่อระหว่างปี พ.ศ. 2518 ถึง พ.ศ. 2522โจทก์ประกอบการค้ารับจ้างทำถุงเท้าสีกากีแกมเขียวให้กับกรมพลาธิการทหารบกกองทัพบก ตามแนวคุณลักษณะเฉพาะที่กรมพลาธิการทหารบกกำหนดโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการค้าเพื่อเสียภาษีการค้าประเภทการค้า 4 การรับจ้างทำของอัตราร้อยละ 2 ของรายรับ เจ้าพนักงานได้ประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าจากโจทก์ประเภทการค้า 1 การขายของโดยถือว่าโจทก์เป็นผู้ผลิต ให้ชำระภาษีการค้าเพิ่มขึ้นเป็นอัตราร้อยละ7 ของรายรับ ตามภาพถ่ายแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าลงวันที่ 3 มีนาคม 2523 รวม 4 ฉบับ ท้ายฟ้อง โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ประกอบด้วยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ได้วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์เป็นผู้รับจ้างทำถุงเท้าตามที่ประกวดราคาได้จากกรมพลาธิกาทหารบกไม่เคยทำถุงเท้าเพื่อจำหน่ายในท้องตลาด ช่วงเวลาที่โจทก์ประกวดราคาไม่ได้ก็จะปิดโรงงานชั่วคราว โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าและชำระภาษีการค้าประเภทการรับจ้างทำของอัตราร้อยละ 2 ของรายรับไว้ถูกต้องแล้ว ขอศาลพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน หากศาลเห็นว่าโจทก์เป็นผู้ผลิตก็ขอให้พิจารณาลดเบี้ยปรับให้ด้วย
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ห้างโจทก์มีวัตถุประสงค์ตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายถุงเท้า รับสั่งเข้าและส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ จากการตรวจสอบแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีการค้าประจำเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2520ของโจทก์พบว่าโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการประเภทการค้า 1 (ก) ผลิตถุงเท้าจำหน่าย แต่ชำระภาษีไว้ร้อยละ 2 ไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินได้เชิญหุ้นส่วนผู้จัดการห้างโจทก์มาพบเพื่อชี้แจงได้ความว่าโจทก์ทำสัญญากับกองทัพบกเป็น 2 ประเภทคือ สัญญาซื้อขายและสัญญาจ้าง จำเลยที่ 1 เห็นว่าสำหรับสัญญาจ้างสาระสำคัญของสัญญาเช่นการผลิตก็เป็นไปตามตัวอย่างของโจทก์ราคาถุงเท้าก็เท่ากับราคาในสัญญาซื้อขาย จุดประสงค์ของสัญญาจ้างมิได้มุ่งหมายที่คุณภาพของถุงเท้าเป็นพิเศษ สาระสำคัญของสัญญาจ้างมีลักษณะเป็นการซื้อขายตามตัวอย่าง จึงถือว่าโจทก์เป็นผู้ผลิตตามมาตรา 77 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องเสียภาษีการค้าร้อยละ 7 ของรายรับตามหมวด 2(6)ของบัญชี 1 แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าห้างโจทก์ได้จดทะเบียนการค้าไว้ต่อกรมสรรพากรประเภทการขายของชนิด 1 ก. โจทก์ประกอบการค้าจัดส่งถุงเท้าให้กรมพลาธิการทหารบกตามที่ยื่นประกวดราคาได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518โดยทำสัญญากับกองทัพบกเป็นสัญญาจ้างทำถุงเท้าบ้าง สัญญาซื้อขายถุงเท้าบ้าง ถุงเท้าที่จัดส่งต้องมีคุณสมบัติเฉพาะที่ทางราชการกำหนดไว้ในสัญญาโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าและชำระภาษีการค้าประเภทการขายของในอัตราร้อยละ 7 ของรายรับมาก่อนตามเอกสารหมาย ล.2 ต่อมาโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าชำระภาษีในอัตราร้อยละ 2 ของรายรับตามเอกสารหมาย ล.3 ผู้อำนวยการกองภาษีการค้ากรมสรรพากรจำเลยที่ 1 จึงได้มีหนังสือเรียกหุ้นส่วนผู้จัดการห้างโจทก์ไปสอบถาม นายสมภพ อิ่มธนาสาร หุ้นส่วนผู้จัดการได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ภาษีตามเอกสารหมาย ล.10 ว่าห้างโจทก์รับจ้างทอถุงเท้าเฉพาะกรมพลาธิการทหารบกแห่งเดียวมิได้ผลิตจำหน่ายโดยทั่วไป เจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งการประเมินภาษีการค้าที่โจทก์ชำระไว้ในอัตราร้อยละ 2 ของรายรับเป็นอัตราร้อยละ 7 ของรายรับ โดยอ้างว่าเป็นรายรับจากการจำหน่ายถุงเท้าที่ผลิตขึ้นตามบัญชี 1 หมวด2(6) ท้ายพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517ให้โจทก์ชำระภาษีการค้าเพิ่มขึ้นรวมทั้งเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ภาษีบำรุงเทศบาลโจทก์เห็นว่าการประเมินภาษีการค้าไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์เป็นเพียงผู้รับจ้างทำของจึงยื่นอุทธรณ์คัดค้าน จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่าการประกอบกิจการของโจทก์เป็นการผลิตตามมาตรา 77 แห่งประมวลรัษฎากร ให้ยกอุทธรณ์การประเมินภาษีของโจทก์ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้
ปัญหาว่าการประกอบกิจการค้าของโจทก์เป็นการผลิตตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ ปรากฏตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนห้างโจทก์เป็นนิติบุคคลว่าห้างโจทก์มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ รวมทั้งโรงงานทำถุงเท้า โรงงานทำรองเท้า และโรงงานทำสั่งถักทอทุกชนิด จำหน่ายถุงเท้า รองเท้าและอื่น ๆ การขอจดทะเบียนการค้าตามประมวลรัษฎากร โจทก์ก็ระบุว่าเป็นการขายของชนิด 1(ก) สินค้าและการค้าส่วนใหญ่เป็นจำพวกถุงเท้า และโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าตามมาตรา 84 แห่งประมวลรัษฎากรแสดงว่าโจทก์ประกอบการค้าประเภท 1 การขายของชนิด 1 (ก) ผลิตถุงเท้าจำหน่าย ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าว่า โจทก์ประกอบการค้าประเภท 4 การรับจ้างทำของเลยพิจารณาคุณลักษณะเฉพาะของถุงเท้า รูปแบบถุงเท้าตามที่กำหนดไว้ท้ายสัญญาจ้างหรือสัญญาซื้อขายถุงเท้าระหว่างกองทัพบกกับห้างโจทก์ก็ใช้คุณลักษณะเฉพาะเช่นเดียวกัน แสดงว่ากองทัพบกมีวัตถุประสงค์ที่จะได้กรรมสิทธิ์ในถุงเท้าที่มีคุณภาพและคุณลักษณะเฉพาะตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเท่านั้น แม้จะบุชื่อว่าเป็นสัญญาจ้างหรือสัญญาซื้อขายก็ไม่สำคัญเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ประกอบกิจการโรงงานทอถุงเท้าจำหน่ายและได้จำหน่ายให้กองทัพบกโดยโจทก์ได้รับมูลค่าของถุงเท้าเป็นค่าตอบแทน โจทก์ก็เป็นผู้ทำให้มีขึ้นซึ่งสินค้าถุงเท้านั้น ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ผลิตตามมาตรา 77 แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงมีหน้าที่เสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 7 ของรายรับในประเภท 1 การขายของชนิด 1(ก) ตามบัญชีอัตราภาษีการค้าแห่งประมวลรัษฎากร หมวด 4 การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว
ที่โจทก์ฎีกาขอลดเบี้ยปรับนั้น เห็นว่า โจทก์เคยชำระภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 7 ของรายรับโดยยอมรับว่าเป็นผู้ผลิตถุงเท้าจำหน่ายมาก่อนแล้วต่อมาจึงได้ชำระภาษีเป็นร้อยละ 2 โดยแสดงลักษณะของการค้าว่าผลิตถุงเท้าจำหน่ายเช่นกันตามแบบแสดงรายการค้าหมาย ล.3 ทำให้จำนวนภาษีที่โจทก์ชำระลดน้อยลงกว่าที่ควรต้องเสีย แสดงว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี กรณีไม่มีเหตุอันสมควรจะลดเบี้ยปรับให้ ที่ศาลล่างทั้งสองให้ยกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแก่จำเลย 1,000 บาท