แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายนั้น จะต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ความรุนแรงแห่งการกระทำของจำเลยประกอบกับบาดแผลที่ผู้ถูกทำร้ายได้รับ จำเลยซึ่งเป็นหญิงใช้เล็บข่วนดั้งจมูกผู้เสียหายเป็นรอยเล็บข่วนยาวประมาณ 1 เซนติเมตร มีโลหิตไหล ยังถือไม่ได้ว่าเป็นอันตรายแก่กาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน และฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานได้รับอันตรายแก่กายถึงบาดเจ็บ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 136, 296
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ไม่รอการลงโทษให้ และวินิจฉัยข้อกฎหมายในข้อหาทำร้ายร่างกายว่า บาดแผลผู้เสียหายยังถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 เท่านั้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายนั้น จะต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำว่ากระทำรุนแรงถึงขนาดหรือไม่และผู้ที่ถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บแผลมากน้อยเพียงใด จำเลยเป็นหญิงใช้เล็บข่วนดั้งจมูกผู้เสียหายเป็นรอยเล็บข่วนยาวประมาณ 1 เซนติเมตร มีโลหิตไหล เมื่อพิจารณาประกอบกับการกระทำของจำเลยเป็นเพียงข่วนยังไม่รุนแรงถึงขนาด ยังถือไม่ได้ว่าเป็นอันตรายแก่กาย