คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2473/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้มาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9)พ.ศ. 2482 ประกอบมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อ 19 และ ข้อ 9 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 329 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 จะเพียงแต่ บัญญัติให้ผู้นำเข้าต้องส่งสินค้าที่ผลิตด้วยของที่นำเข้า ดังกล่าวออกไปยังเมืองต่างประเทศภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันนำเข้า จึงจะได้รับคืนเงินอากรขาเข้าก็ตาม แต่การส่งออก ดังกล่าวต้องเป็นการส่งออกโดยชอบตามมาตรา 45แห่ง พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ซึ่งบัญญัติให้ผู้ส่งออกต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนตามพระราชบัญญัติศุลกากรและกฎหมาย อื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากรและยื่นใบขนสินค้าโดยถูกต้องด้วยการที่บริษัทว.ส่งสินค้าของโจทก์ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ ทั้งยังระบุใน ใบกำกับสินค้าว่าส่งออกไปยังเมืองฮ่องกงนั้น ถือเป็นการส่งออกที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 45 ซึ่งการกระทำดังกล่าวผูกพันโจทก์ด้วย โจทก์จะอ้างว่าตนไม่ทราบถึงการกระทำของบริษัทดังกล่าวหาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยคืนเงินอากรขาเข้าตาม พระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 19 ทวิ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิได้รับคืนอากรในส่วนของวัตถุดิบที่นำเข้าด้วยตนเองและโจทก์ได้ส่งกระโปรงสตรีผ้าฝ้ายเดนิม สีดำที่ผลิตจากสินค้าผ้าฝ้ายเดนิม สีดำที่โจทก์นำเข้าไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ขอให้จำเลยชำระเงิน 834,576.16 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 801,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและสั่งเพิกถอนหนังสือของจำเลยที่ กค.0614 (32) 2757 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2540 ที่ให้โจทก์ชำระเงินอากรที่ขาดสำหรับวัตถุดิบที่นำเข้าจำนวน 550,781.71 บาท แก่จำเลย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 6)พุทธศักราช 2482 สำหรับสินค้าผ้าฝ้ายเดนิม สีดำที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อผลิตและส่งออกไปยังต่างประเทศตามฟ้องเพราะโจทก์ส่งสินค้าออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาโดยใช้โควตาส่งออกของบริษัทเวิลด์ไวลด์เอ็กซ์ปอร์ต อิมปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด โดยบริษัทดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์และเป็นการสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัด อันเป็นความผิดตามมาตรา 27, 99 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ และต้องชำระอากรนำเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล สำหรับใบขนสินค้าขาเข้าสามฉบับที่ระบุให้แก่จำเลยเป็นจำนวน 444,970.17 บาท จึงขอให้ยกฟ้อง และให้โจทก์ใช้ค่าภาษีอากรที่ค้างชำระรวม 444,970.17 บาท แก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ทราบว่าบริษัทเวิลด์ไวลด์เอ็กซ์ปอร์ตอิมปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด สำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงข้อกำหนดของกฎหมายศุลกากรหรือไม่ หากมีการสำแดงเท็จจริงโจทก์ก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือร่วมกระทำการด้วยขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องให้โจทก์ใช้ค่าภาษีอากรที่ค้างชำระรวม 444,970.17 บาท แก่จำเลยค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ถูกต้อง อันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิขอคืนเงินอากรขาเข้าตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 19 ทวิ หรือไม่ ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ตามทางนำสืบและคำแถลงรับของคู่ความในวันชี้สองสถานว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2531 โจทก์นำสินค้าผ้าฝ้ายเดนิม สีดำจากเมืองฮ่องกงเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเพื่อผลิตเป็นสินค้าเสื้อผ้าส่งออกไปยังต่างประเทศและขอคืนเงินอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 0000-04131560-9 (หรือ 041-31560),0000-04133289-9 (หรือ 041-33289) และ0000-04133290-9 (หรือ 041-33290) รวม 3 ฉบับ โดยโจทก์วางหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงไทย จำกัด ไว้แก่จำเลยเพื่อเป็นหลักประกันและรับสินค้าไปจากอารักขาของจำเลยโจทก์ใช้สินค้าที่นำเข้าเป็นวัตถุดิบผลิตสินค้าเป็นกระโปรงสตรีส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งการส่งออกดังกล่าวต้องมีโคว ตาและรับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์เป็นหนังสือแต่โจทก์ไม่มีโคว ตา จึงมอบให้บริษัทเวิลด์ไวลด์เอ็กซ์ปอร์ต อิมปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ส่งออกในนามของบริษัทดังกล่าวบริษัทเวิลด์ไวลด์เอ็กซ์ปอร์ต อิมปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด ส่งสินค้าของโจทก์ออกเมื่อวันที่ 13 และ 23 พฤษภาคม 2531 ตามใบขนสินค้าออกเลขที่ 3051-1979 และ 305-13957 หลังจากนั้นโจทก์ยื่นคำขอคืนเงินอากรต่อจำเลยแต่จำเลยปฏิเสธและไม่คืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงไทย จำกัด ให้แก่โจทก์โดยอ้างว่าบริษัทเวิลด์ไวลด์เอ็กซ์ปอร์ต อิมปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด ส่งสินค้าของโจทก์ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์เป็นหนังสือด้วยวิธีสำแดงเท็จต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยในใบอินวอยซ์หรือใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 15 และ 21 ว่าส่งสินค้าของโจทก์ไปยังเมืองฮ่องกงอันเป็นการไม่ถูกต้องตามกฎหมายโจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 19 ทวิ จำเลยเรียกให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด ผู้ออกหนังสือค้ำประกันชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันแก่จำเลย รวม 801,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2540 แล้วและเรียกให้โจทก์ชำระค่าภาษีอากรขาเข้าพร้อมเงินเพิ่มที่ขาดแก่จำเลยอีกเป็นเงิน 444,970.17 บาท ศาลฎีกาพิเคราะห์มาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 ประกอบมาตรา 45แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อ 19และข้อ 9 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 329 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 แล้ว เห็นว่า แม้มาตรา 19 ทวิ จะเพียงแต่บัญญัติให้ผู้นำเข้าต้องส่งสินค้าที่ผลิตด้วยของที่นำเข้าดังกล่าวออกไปยังเมืองต่างประเทศภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันนำเข้า จึงจะได้รับคืนเงินอากรขาเข้าก็ตาม แต่การส่งออกดังกล่าวต้องเป็นการส่งออกโดยชอบตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ซึ่งบัญญัติให้ผู้ส่งออกต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนตามพระราชบัญญัติศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากรและยื่นใบขนสินค้าโดยถูกต้องด้วย การที่บริษัทเวิลด์ไวลด์เอ็กซ์ปอร์ต อิมปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด ส่งสินค้าของโจทก์ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ ทั้งยังระบุในใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย ล.1แผ่นที่ 15 และ 21 ว่าส่งออกไปยังเมืองฮ่องกงนั้นถือเป็นการส่งออกที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 45 ดังกล่าวซึ่งผูกพันโจทก์ด้วย โจทก์จะอ้างว่าโจทก์ไม่ทราบถึงการกระทำของบริษัทดังกล่าวหาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยคืนเงินอากรขาเข้าตามมาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ดังที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้วอุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share