คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3356/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 เป็นบทบัญญัติถึงวิธีการบอกเลิก สัญญาจ้างระหว่างคู่สัญญาที่ไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะเลิกสัญญาจ้างด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้าง คราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญาจ้างกันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป หากการบอกกล่าวเลิกจ้างไม่ถูกต้องตามบทกฎหมายดังกล่าว ฝ่ายนั้นต้องรับผิดในสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่จะต้องชดใช้ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าดังกล่าวจึงมิใช่ค่าจ้าง หลังจากสัญญาจ้างสิ้นสุดเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาแล้ว สภาพการเป็นลูกจ้าง นายจ้างย่อมสิ้นสุดไปด้วย หลังจากนั้นลูกจ้างไม่ได้ทำงานให้นายจ้างลูกจ้างจึงไม่มี สิทธิได้รับค่าจ้างอีก จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 13 มิถุนายน 2540จำเลยเลิกจ้างโจทก์ หลังจากเลิกจ้างโจทก์แล้ว จำเลยได้จ่ายค่าจ้างเดือนมิถุนายน 2540 สำหรับครึ่งเดือนแรก จำนวน 18,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน และค่าชดเชย 3 เดือน ให้โจทก์เรียบร้อยแล้ว เมื่อตามคำฟ้องโจทก์ประสงค์เรียกร้องค่าจ้างสำหรับเดือนมิถุนายน 2540 อีกครึ่งเดือนหลังจำนวน 18,000 บาท จากจำเลยแต่โจทก์มิได้เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2540 ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างตามที่ฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายจองรถตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2538 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 36,000 บาท โบนัสปีละ 2 ครั้ง สำหรับระยะเวลาการทำงานตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2539 เป็นเงิน 25,000 บาท โดยจ่ายในเดือนกรกฎาคม 2539 สำหรับระยะเวลาการทำงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2539 เป็นเงิน 16,800 บาท โดยจ่ายในเดือนมกราคม 2540 ต่อมาวันที่ 13 มิถุนายน 2540 จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าตำแหน่งงานของโจทก์เกินความจำเป็นและมอบงานในหน้าที่ของโจทก์ให้ลูกจ้างซึ่งจำเลยรับเข้ามาก่อนเลิกจ้างโจทก์ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 13 มิถุนายน 2540 ซึ่งเป็นช่วงกลางเดือน ไม่ใช่วันจ่ายค่าจ้างประจำเดือน จำเลยจ่ายค่าจ้างประจำเดือนมิถุนายน 2540 ให้แก่โจทก์เพียงครึ่งเดือน จำนวน 18,000 บาท ส่วนอีกครึ่งเดือนจำนวน 18,000 บาท จำเลยไม่ยอมจ่าย นอกจากนี้หากจำเลยไม่เลิกจ้างโจทก์โจทก์มีสิทธิได้รับโบนัสสำหรับระยะเวลาการทำงานตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2540 เป็นเงิน 25,000 บาท โจทก์ยังมีวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปี 2540 เหลืออยู่ 5 วันครึ่ง จำเลยต้องจ่ายเงินทดแทนให้โจทก์เป็นเงิน 6,600 บาท และการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ขอเรียกร้องค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างที่โจทก์ได้รับเดือนละ 36,000 บาท เป็นเวลา 12 เดือน เป็นเงิน 432,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 481,600 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินจำนวน 481,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินจำนวน 6,600 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงว่า เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2540 ซึ่งเป็นวันก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างของเดือนมิถุนายน 2540 อีกครึ่งหนึ่งจำนวน 18,000 บาท ให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 หรือไม่ เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 เป็นบทบัญญัติถึงวิธีการบอกเลิกสัญญาจ้างระหว่างคู่สัญญาที่ไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาจ้างด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญาจ้างกันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป หากการบอกกล่าวเลิกจ้างไม่ถูกต้องตามบทกฎหมายดังกล่าว ฝ่ายนั้นต้องรับผิดในสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่จะต้องชดใช้ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าดังกล่าวจึงมิใช่ค่าจ้างเพราะหลังจากสัญญาจ้างสิ้นสุดเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาแล้วสภาพการเป็นลูกจ้างนายจ้างย่อมสิ้นสุดไปด้วย หลังจากนั้นลูกจ้างไม่ได้ทำงานให้นายจ้างลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างอีก ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่าจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทุกวันสิ้นเดือนวันที่ 13 มิถุนายน 2540 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ นอกจากนี้ปรากฏจากคำฟ้องและคำเบิกความของโจทก์ประกอบเอกสารหมาย จ.2 ว่า หลังจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว จำเลยจ่ายค่าจ้างเดือนมิถุนายน 2540 สำหรับครึ่งเดือนแรก จำนวน 18,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน และค่าชดเชย 3 เดือน ให้โจทก์เรียบร้อยแล้ว เมื่อตามคำฟ้องโจทก์ประสงค์เรียกร้องค่าจ้างสำหรับเดือนมิถุนายน 2540 อีกครึ่งเดือนจำนวน 18,000 บาท จากจำเลย แต่โจทก์มิได้เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2540 ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างตามที่ฟ้อง
พิพากษายืน

Share