คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2239/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยจ้างโจทก์โดยมีกำหนดระยะเวลาเป็นช่วงๆ ช่วงละ 6 เดือนครั้งสุดท้ายมีกำหนดระยะเวลา 4 เดือน สัญญาจ้างระบุวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดแห่งสัญญาไว้ทุกช่วงจึงถือว่าเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะเวลานั้น จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ทั้งถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้สมัครเข้าทำงานในโรงกลั่นน้ำมันทหารบางจากในฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสี่ จำเลยทั้งสี่ได้ทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์เป็นการจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ในสัญญาจ้างระบุว่าถ้าหากจำเลยทั้งสี่ต้องการเลิกจ้าง โจทก์ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน ต่อมาจำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหาย พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยที่ ๔ ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่อาจถูกฟ้องเป็นจำเลยได้ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ เป็นราชการส่วนกลาง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ จำเลยทั้งสี่ไม่เคยจ้างโจทก์ หากจะฟังว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยก็ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายและค่าชดเชยแก่โจทก์ เพราะโจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวและมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและถูกเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ ฝ่าฝืนข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง จงใจทำให้นายจ้างเสียหาย สนับสนุนผู้กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไม่อยู่ในฐานะเป็นนายจ้างโจทก์โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๔ แต่จำเลยที่ ๔ ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นเพียงส่วนราชการที่ขึ้นตรงต่อจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ จึงเป็นนายจ้างโจทก์แต่ผู้เดียว โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยที่ ๑ โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้าง จำเลยที่ ๑เลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด และไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ จ่ายค่าเสียหาย ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินค่าชดเชยนับแต่วันเลิกจ้าง ในต้นเงินค่าเสียหายและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับแต่วันฟ้อง ไปจนกว่าชำระเสร็จ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๔ บรรจุโจทก์เข้าเป็นลูกจ้างมีกำหนด ๖ เดือน ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๔ ครบกำหนดวันที่๓๐ กันยายน ๒๕๒๔ ต่อมาจำเลยที่ ๑ อนุมัติให้จ้างโจทก์ทำงานต่ออีก ๖ เดือนนับแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๔ เป็นต้นไป ครบกำหนดแล้วจ้างต่ออีก ๖ เดือนครั้งสุดท้ายจำเลยที่ ๑ อนุมัติให้จ้างโจทก์ต่อนับแต่เดือนตุลาคม ๒๕๒๕ ถึงเดือนมกราคม ๒๕๒๖ เมื่อสิ้นเดือนมกราคม ๒๕๒๖ ตามกำหนด จำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้ออกคำสั่งจ้างโจทก์ต่อไป เห็นได้ว่า จำเลยที่ ๑ จ้างโจทก์โดยมีกำหนดระยะเวลาเป็นช่วง ๆ ช่วงละ ๖ เดือน ครั้งสุดท้ายมีกำหนดระยะเวลา ๔ เดือนสัญญาจ้างระหว่างจำเลยที่ ๑ กับโจทก์เป็นสัญญาที่ได้ระบุวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดแห่งสัญญาไว้ทุกช่วง จึงถือว่าเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนจำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์โดยมิได้มีคำสั่งจ้างโจทก์ต่อไปอีก เท่ากับเป็นการเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น จำเลยที่ ๑ ผู้เป็นนายจ้างได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๔๖ วรรคท้าย แก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ ๖)ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๒๑ ข้อ ๒ และไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ ทั้งถือไม่ได้ว่าการเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายแก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share