คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 290/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยข้อหาบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินทำเลเลี้ยงสัตว์ อันเป็นที่ดินของรัฐซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน โดยเข้าไประเบิดย่อยหินในที่ดินดังกล่าว โดยไม่มีสิทธิครอบครองและมิได้รับอนุญาตกับข้อหาละเว้นไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่สั่งให้หยุดการระเบิดย่อยหินในที่ดินและออกไปจากที่ดินดังกล่าว จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง คดีถึงที่สุด ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาทำเหมืองโดยใช้เครื่องมือทำการระเบิดและย่อยหิน โดยมิได้รับประทานบัตรจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อความผิดฐานบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐในคดีก่อนกับความผิดคดีนี้ ระยะเวลาที่เกิดเหตุ สถานที่เกิดเหตุและการกระทำของจำเลยเป็นครั้งเดียวกัน แม้ฐานความผิดจะต่างกันก็เป็นความผิดกรรมเดียว ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยในการกระทำความผิดดังกล่าวจนศาลพิพากษาลงโทษคดีถึงที่สุดไปแล้วสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4) โจทก์มาฟ้องจำเลยอีกแม้จะอ้างบทลงโทษตามพระราชบัญญัติแร่ฯ ก็เป็นการฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำเหมืองโดยใช้เครื่องมือทำการระเบิดและย่อยหินที่บริเวณที่ดินทำเลเลี้ยงสัตว์ ป่าเสมาะเกรียน ป่าปะเลียน ป่าพวงตึก ตำบลประทัดบุ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ อันเป็นที่ดินของรัฐซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน รวมเนื้อที่ประมาณ 138 ไร่เศษ ซึ่งหินทุกชนิดเป็นแร่ชนิดหินประดับหรือแร่ชนิดหินอุตสาหกรรม ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 77 (พ.ศ. 2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2539 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจำเลยได้ทราบแล้ว ทั้งนี้ โดยจำเลยมิได้รับประทานบัตรจากพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 4, 17, 43, 135

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2510 มาตรา 43, 135 จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน

จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องหรือรอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในคดีก่อน (คดีหมายเลขแดงที่ 1120/2541 ของศาลจังหวัดสุรินทร์) โจทก์ฟ้องจำเลยข้อหาบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินทำเลเลี้ยงสัตว์ ป่าเสมาะเกรียน ป่าปะเลียน ป่าพวงตึก ตำบลประทัดบุ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ อันเป็นที่ดินของรัฐซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันเนื้อที่ 138 ไร่ 22 ตารางวา โดยเข้าไประเบิดย่อยหินในที่ดินดังกล่าว โดยมิได้มีสิทธิครอบครองและมิได้รับอนุญาต กับข้อหาละเว้นไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่สั่งให้หยุดกระทำการระเบิดย่อยหินในที่ดินและออกไปจากที่ดินดังกล่าว จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง คดีถึงที่สุด ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาทำเหมืองโดยใช้เครื่องมือทำการระเบิดและย่อยหิน โดยมิได้รับประทานบัตรจากพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่า ความผิดฐานบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐในคดีก่อนกับความผิดตามฟ้องคดีนี้ ระยะเวลาที่เกิดเหตุ สถานที่เกิดเหตุและการกระทำของจำเลยเป็นครั้งเดียวกัน แม้ฐานความผิดจะต่างกันก็เป็นความผิดกรรมเดียวกัน เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยในการกระทำความผิดดังกล่าวจนศาลพิพากษาลงโทษคดีถึงที่สุดไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) โจทก์มาฟ้องจำเลยอีกแม้จะอ้างบทลงโทษตามพระราชบัญญัติแร่ ก็เป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share