คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4211/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 มีคำสั่งตั้งให้โจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ของสถานีเพื่อให้โจทก์สามารถเป็นผู้จัดการสดได้เท่านั้น มิได้มีเจตนาจะทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์ และโจทก์ก็มิได้ทำงานให้แก่จำเลยที่ 1นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ฐานะลูกจ้างและนายจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาเงินต่าง ๆ ตามฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย โดยจำเลยแต่งตั้งให้โจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ประกาศ ฝ่ายการโฆษณา แผนกรายการประจำสถานีวิทยุกระจายเสียงทหารอากาศ 09 อุดรธานี ได้รับเงินค่าจ้างเดือนละ 200 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2514 ครั้งสุดท้ายโจทก์ได้รับคำสั่งให้เป็นหัวหน้าฝ่ายรายการ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 700 บาท เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2533 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2533 โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดใด ๆ จำเลยไม่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์และมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ทราบตามกฎหมาย ทั้งเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ ระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยจำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จำเลยไม่ได้จัดวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี ให้แก่โจทก์ตามกฎหมาย ขอให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จเหตุเกษียณอายุจำนวน 42,180 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 2,220 บาท ค่าชดเชยจำนวน13,320 บาท ค่าจ้างขั้นต่ำค้างจ่ายจำนวน 68,430 บาท ค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์จำนวน 29,380 บาท ค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีจำนวน 7,345 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 3,390 บาท ค่าเสียหายจำนวน 519,840 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของต้นเงินทั้งหมดดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสาม จำเลยให้โจทก์มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่สถานีวิทยุกระจายเสียง เพื่อโจทก์จะได้มีสิทธิจัดรายการสดและได้เปอร์เซ็นต์จากค่าโฆษณารายการทางสถานีวิทยุกระจายเสียงทหารอากาศ 09 อุดรธานี คำสั่งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมิได้มีผลผูกมัดบังคับให้โจทก์ต้องมาปฏิบัติงานในสถานีวิทยุกระจายเสียงทหารอากาศ 09 อุดรธานี แต่การที่โจทก์มาปฏิบัติงานในสถานีวิทยุกระจายเสียงนั้น จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาปฏิบัติงาน จำเลยที่ 3 จึงกำหนดค่าพาหนะให้แก่โจทก์เพื่อที่จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการอุทิศตนมาปฏิบัติงานที่สถานีวิทยุดังกล่าว เมื่อจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 มีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์ให้เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เพื่อให้โจทก์มีสิทธิที่จะเข้าไปจัดรายการสดที่สถานีวิทยุของจำเลยที่ 1 ได้ตามระเบียบที่จำเลยที่ 1 ได้วางไว้ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ว่า ที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์นั้น เป็นการออกคำสั่งเพียงเพื่อให้โจทก์ได้เข้าไปทำงานในสถานีวิทยุของจำเลยที่ 1 โดยถูกต้องตามระเบียบที่กำหนดไว้เท่านั้น มิใช่เป็นการแสดงออกซึ่งเจตนาที่จะให้โจทก์เข้าไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แต่ประการใด และในเรื่องงานที่โจทก์ทำในสถานีของจำเลยที่ 1 ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าเป็นงานจัดรายการสดซึ่งผู้จัดรายการได้ซื้อเวลาออกอากาศของจำเลยที่ 1ไป และเมื่อมีการซื้อเวลาออกอากาศไปแล้วผู้ซื้อเวลาออกอากาศจะจัดรายการออกอากาศอย่างไรจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจควบคุมการปฏิบัติงานของผู้จัดรายการ ดังนั้น งานที่โจทก์ทำโดยแท้จริงคือการจัดรายการสด ซึ่งงานนี้แม้จะทำในสถานที่ของจำเลยที่ 1 แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ขายเวลาในการจัดรายการให้ผู้ซื้อไปแล้ว งานจัดรายการจึงมิใช่งานของจำเลยที่ 1 แต่เป็นงานของผู้ที่ซื้อเวลาไปโจทก์ก็เป็นผู้หนึ่งที่ซื้อเวลาออกอากาศไปจากจำเลยที่ 1 ดังนั้นการทำงานจัดรายการสดจึงมิใช่งานที่โจทก์ทำให้แก่จำเลยที่ 1 จึงไม่มีกรณีที่จะถือได้ว่าโจทก์ได้รับเงินจากจำเลยที่ 1 เป็นการตอบแทนการทำงานอันจะถือว่าเป็นค่าจ้างตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 เมื่อจำเลยที่ 1มิได้มีเจตนาจะทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์ และโจทก์ก็มิได้ทำงานให้แก่จำเลยที่ 1 เช่นนี้ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ฐานะลูกจ้างและนายจ้าง ทั้งการที่จำเลยที่ 1จ่ายค่าพาหนะหรือเงินค่าแรงพิเศษเพียงเล็กน้อยให้โจทก์ศาลแรงงานกลางก็ฟังว่ามิใช่เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานแต่โจทก์มีรายได้จากการจัดรายการสดของโจทก์เองเดือนละไม่ต่ำกว่า20,000 บาท กรณีเห็นได้ว่าโจทก์มิได้อยู่ในฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาเงินต่าง ๆ ตามฟ้องอันเป็นเงินที่จะเรียกร้องได้ก็ต่อเมื่อมีฐานะเป็นลูกจ้างศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share