แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยมิได้เป็นหนี้โจทก์สำหรับหนี้จำนวนอื่นที่เกินกว่ามูลหนี้ที่ปรากฏในหนังสือรับสภาพหนี้ แม้จำเลยรับชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวก็เป็นการรับสภาพหนี้ที่เกินกว่ามูลหนี้ที่แท้จริง ย่อมมีผลบังคับแก่กันได้เฉพาะหนี้ที่มีอยู่จริงเท่านั้น จำเลยจึงต้องรับผิดตามจำนวนหนี้ที่มีอยู่จริง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2528 จำเลยเป็นหนี้โจทก์ทั้งสองจำนวน 585,220 บาท ต่อมาวันที่ 24 มิถุนายน 2535 จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ยินยอมชำระหนี้ดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 500,000 บาท ภายในวันที่ 1มกราคม 2536 เมื่อถึงกำหนดจำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน517,187.50 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยเป็นหนี้ตามฟ้อง หนังสือรับสภาพหนี้เป็นเอกสารปลอม จำเลยเคยทำหนังสือให้โจทก์มีข้อความแต่เพียงว่า วันที่ 24 มิถุนายน 2535 เงิน 50,000 บาท จะนำมาชำระวันที่ 1 มกราคม 2536 เท่านั้น ข้อความอื่นนอกจากนี้ทำเพิ่มเติมขึ้นภายหลัง เหตุที่ทำหนังสือฉบับนี้ก็เพราะโจทก์นำเครื่องกลึงและเครื่องเชื่อมโลหะมาฝากจำเลยขายในราคา 50,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2536 ซึ่งเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ทั้งสองตามรายการในเอกสารหมาย จ.2 และทำหนังสือยอมรับว่าจะชำระหนี้ดังกล่าวจำนวน 500,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสองตามเอกสารหมาย จ.1 จริง แต่ปรากฏว่าหนี้ตามรายการในเอกสารหมาย จ.2 เป็นหนี้ค่ารถยนต์มิตซูบิชิ 65,000 บาท ค่าเครื่องกลึงตู้เชื่อม 55,000 บาท แท่นกลึงเก่า 1 ชุด 52,000 บาท ค่าเช่า 130,000 บาท หนี้กู้ยืมเงิน 30,000 บาท และแท่นปั๊มลม 60,000 บาท รวมเป็นเงิน 392,000 บาท หักค่าเครื่องกลึงและตู้เชื่อมที่ขายให้ช่างแต่งออก 55,000 บาท แล้ว จำเลยเป็นหนี้โจทก์ทั้งสองจำนวน 337,000 บาท ส่วนหนี้จำนวนอื่นนอกนั้นได้ความจากโจทก์ที่ 1 และตามเอกสารหมาย จ.2 ดังกล่าวว่าเป็นดอกเบี้ยร้อยละ 2.70 ต่อเดือน ซึ่งเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 และนายเส็งผู้ตายเป็นผู้คิดคำนวณไว้เองโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยตกลงด้วย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ทั้งสองสำหรับหนี้จำนวนอื่นที่เกินกว่า 337,000 บาท ดังนั้น แม้จำเลยรับจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 500,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 ก็เป็นการรับสภาพหนี้ที่เกินกว่ามูลหนี้ที่แท้จริง ย่อมมีผลบังคับแก่กันได้เฉพาะหนี้ที่มีอยู่จริงเท่านั้น จำเลยจึงต้องรับผิดตามจำนวนหนี้ที่มีอยู่จริงคือ 337,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2536 ซึ่งเป็นวันผิดนัดเท่านั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 337,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1