คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4957/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเข้าไปล้อมรั้วสังกะสีทำเป็นร้านอาหารในที่ดินพิพาทของโจทก์โดยถือวิสาสะ มิใช่เจตนาอย่างเป็นเจ้าของ ส่วนที่จำเลยมุงหลังคากระเบื้องและทำรั้วด้านข้างและด้านหลังนั้น จำเลยก็เพิ่งทำหลังคาและรั้วดังกล่าวเมื่อนับถึงวันที่จำเลยฟ้องแย้งยังไม่ถึง 10 ปี จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายก่อนฟ้อง 30,000 บาท กับค่าเสียหายอนาคตอีกเดือนละ 10,000 บาท จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นกรณีพิพาทกันในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินด้วย เมื่อศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกาโดยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพียงตามจำนวนทุนทรัพย์ในค่าเสียหายก่อนฟ้อง โดยไม่ได้เสียค่าขึ้นศาลตามราคาที่ดินพิพาทมาด้วย ศาลฎีกาสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาตามราคาที่ดินพิพาทให้ครบถ้วนแต่โจทก์ไม่ชำระ จึงต้องถือว่าโจทก์ทิ้งฎีกาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาในเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 ประกอบมาตรา 246 และ 247 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจึงคงมีปัญหาวินิจฉัยในปัญหาค่าเสียหายก่อนฟ้องเท่านั้น แต่เมื่อโจทก์ทิ้งฟ้องในปัญหาที่พิพาทกันในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินเสียแล้ว ทั้งปัญหาเรื่องค่าเสียหายก็เกี่ยวเนื่องกับปัญหาที่โจทก์ทิ้งฟ้องไม่สามารถวินิจฉัยแยกออกจากกันได้และไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ปัญหาเรื่องค่าเสียหายก่อนฟ้องจึงไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2536 โจทก์ได้ซื้อที่ดินโฉนดที่ 2218เนื้อที่ 26 ตารางวา ซึ่งจำเลยทั้งสองได้ปลูกโรงเรือนพักอาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าว โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองอยู่ต่อไป จึงมีหนังสือบอกกล่าวให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายออกไปจากที่ดิน จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ที่ดินโจทก์หากให้เช่าจะได้ค่าเช่าเดือนละ 10,000 บาท และเงินกินเปล่าอีก 30,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองพร้อมบริวารรื้อถอนโรงเรือนออกไปจากที่ดินของโจทก์ และห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป และร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์30,000 บาท และนับจากวันฟ้องอีกเดือนละ 10,000 บาท จนกว่าจะรื้อถอนโรงเรือนออกไปจากที่ดินของโจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 และบังคับให้โจทก์ไปดำเนินการจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ 2218 ให้โจทก์ไปจัดการจดทะเบียนแก้ไขชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวเป็นชื่อจำเลยที่ 1 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์และให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า จำเลยที่ 1ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาท และการที่จำเลยที่ 1 เข้าไปล้อมรั้วสังกะสีทำเป็นร้านอาหารเป็นการเข้าไปโดยถือวิสาสะ ไม่ใช่เจตนาเป็นเจ้าของ ส่วนที่จำเลยที่ 1 มุงหลังคากระเบื้องทำรั้วด้านข้างและด้านหลังเป็นอิฐบล็อกนางฉวีวรรณ โน๊ตไชยา พยานจำเลยเองก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า การที่จำเลยมุงหลังคาเพียงครึ่งเดียวนั้นเป็นการมุงแบบชั่วคราว และที่จำเลยทั้งสองเปลี่ยนรั้วสังกะสีเป็นรั้วอิฐบล็อกนั้น นางฉวีวรรณก็ไม่สามารถยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท แสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้ปลูกสร้างหลังคาและรั้วขึ้นอย่างถาวร แต่อย่างไรก็ตามก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เพิ่งทำหลังคาและรั้วดังกล่าวเมื่อปี 2532 หากนับถึงวันฟ้องยังไม่ถึง 10 ปี จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์รับโอนที่ดินพิพาทและเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตหรือไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทของโจทก์และเรียกค่าเสียหายก่อนฟ้อง 30,000 บาท กับค่าเสียหายอนาคตอีกเดือนละ 10,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 โดยการครอบครองปรปักษ์ กรณีเป็นเรื่องพิพาทกันในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทด้วยเมื่อศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกาโดยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพียง 750 บาท ตามจำนวนทุนทรัพย์ในค่าเสียหายก่อนฟ้องเท่านั้น ไม่ได้เสียค่าขึ้นศาลตามราคาที่ดินพิพาทมาด้วย ศาลฎีกาสั่งศาลชั้นต้นดำเนินการให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาให้ครบถ้วนตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลฎีกา ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2541 และวันที่ 21 มกราคม 2542 ต่อมาปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2542 และวันที่ 8 กรกฎาคม 2542 ว่า โจทก์ไม่ชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพิ่มให้ครบถ้วนตามคำสั่งศาลฎีกา จึงต้องถือว่าโจทก์ทิ้งฎีกาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 ประกอบมาตรา 246 และ 247 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้

สำหรับฎีกาโจทก์ในปัญหาค่าเสียหายนั้น เนื่องจากศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาในส่วนค่าเสียหายอนาคตเพราะโจทก์ไม่เสียค่าขึ้นศาล จึงคงมีปัญหาวินิจฉัยในปัญหาค่าเสียหายก่อนฟ้องเท่านั้น แต่เมื่อโจทก์ทิ้งฟ้องในปัญหาแรกเสียแล้ว ทั้งปัญหาเรื่องค่าเสียหายก็เกี่ยวเนื่องกับปัญหาที่โจทก์ทิ้งฟ้องซึ่งไม่สามารถวินิจฉัยแยกออกจากกันได้และไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

พิพากษายืน ให้จำหน่ายคดีโจทก์ในส่วนทิ้งฟ้องเสียจากสารบบความของศาลฎีกา และยกฎีกาโจทก์ในส่วนค่าเสียหายก่อนฟ้อง คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาแก่โจทก์750 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share