คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2302/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อที่ว่าผู้เสียหายมีส่วนร่วมในการประมาทด้วยหรือไม่ แม้จำเลยจะมิได้ต่อสู้ไว้ในคดีอาญา ก็ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคดีแพ่ง
ผู้เยาว์ถูกจำเลยขับรถชนได้รับอันตราย มารดาดำเนินคดีแทนผู้เยาว์โดยฟ้องเรียกค่าเสียหาย มิได้ฟ้องในนามของมารดาเองเป็นการส่วนตัว เท่ากับผู้เยาว์เป็นโจทก์ฟ้องคดีนั่นเอง เมื่อผู้เยาว์ยังมิได้รับความยินยอมจากบิดา จึงเป็นการบกพร่องในเรื่องความสามารถตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 วรรคสองศาลมีอำนาจสอบสวนในเรื่องความสามารถของคู่แล้วและมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องได้ หาใช่ว่าฟ้องของโจทก์เสียไป เพราะเป็นการดำเนินคดีโดยผู้ไม่มีอำนาจไม่ การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถจึงชอบแล้ว
(ตามวรรคสอง วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 13/2518)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1ได้ขับรถยนต์อันเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยประมาทเป็นเหตุให้รถชนโจทก์ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 18,418 บาทพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสองให้การร่วมกันว่า จำเลยที่ 1 มิได้ขับรถด้วยความประมาทโจทก์วิ่งตัดหน้ารถที่จำเลยที่ 1 ขับอย่างกระชั้นชิด สุดวิสัยที่จะหยุดรถได้ทัน ถ้าฟังว่าจำเลยที่ 1 ประมาท โจทก์ก็มีส่วนร่วมในความประมาทด้วย

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 15,068 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 7,534 บาทให้โจทก์

โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เด็กหญิงเกษรา เนตรสว่าง เป็นบุตรของนางอุบลศรี และนายสมเกียรติ เนตรสว่าง เมื่อฟ้องคดีนี้แล้ว นายสมเกียรติเนตรสว่างได้ทำหนังสือให้ความยินยอมและให้สัตยาบัน เมื่อสืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จสิ้นแล้วศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2516 ให้เด็กหญิงเกษราแก้ไขข้อบกพร่องเรื่องความสามารถ โดยให้นายสมเกียรติบิดามาให้ความยินยอมแล้ว ต่อมาวันที่ 21 พฤศจิกายน 2516 โจทก์ได้ยื่นหนังสือให้ความยินยอมของนายสมเกียรติต่อศาล

ศาลฎีกาเห็นว่า เด็กหญิงเกษรามีส่วนร่วมประมาทอยู่ด้วย แต่จำเลยที่ 1มีส่วนประมาทมากกว่าเด็กหญิงเกษราและในข้อที่ว่าเด็กหญิงเกษรามีส่วนร่วมในการประมาทด้วยหรือไม่นี้ แม้จำเลยจะมิได้ต่อสู้ไว้ในคดีอาญา ก็ไม่เป็นการตัดสิทธิจำเลยที่จะยกขึ้น เป็นข้อต่อสู้ในคดีแพ่ง

จำเลยฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์เสียไปเพราะเป็นการดำเนินคดีโดยผู้ไม่มีอำนาจ มิใช่เป็นการบกพร่องในเรื่องความสามารถที่จะแก้ไขได้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยปัญหานี้โดยที่ประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า การที่นางอุบลศรีเนตรสว่าง ฟ้องคดีตั้งแต่แรกนั้น นางอุบลศรี มิได้ฟ้องในนามของนางอุบลศรีเองเป็นการส่วนตัว แต่นางอุบลศรีดำเนินคดีแทนเด็กหญิงเกษรา หรืออีกนัยหนึ่งเด็กหญิงเกษราเป็นโจทก์ฟ้องคดีนั่นเอง เมื่อเด็กหญิงเกษรายังมิได้รับความยินยอมจากบิดา จึงเป็นการบกพร่องในเรื่องความสามารถตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 56 วรรคสอง ศาลย่อมมีอำนาจสอบสวนในเรื่องความสามารถของคู่ความ และมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของเด็กหญิงเกษราจึงชอบแล้ว และเห็นว่าจำเลยควรรับผิดใช้ค่าเสียหาย 11,300 บาท

พิพากษาแก้เป็นให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 11,300บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share