คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1927/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่1เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้กล่าวอภิปรายในการประชุม ร่วมกัน ของรัฐสภาในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย มีข้อความพาดพิงมาถึงโจทก์ว่าหลีกเลี่ยงภาษี อันเป็นข้อความฝ่าฝืน ต่อความจริง ซึ่งจำเลยที่1ไม่รู้แน่จริงขึ้นมายืนยันฉะนั้นข้อความที่จำเลยที่1 กล่าวหาโจทก์ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณ และทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของโจทก์แต่คำกล่าวอภิปราย ของจำเลยที่ 1 เป็นการกล่าวถ้อยคำไปในทางแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการพิจารณางบประมาณรายจ่าย ของรัฐโดยตรงจำเลยที่ 1 ย่อมได้ รับเอกสิทธิ์ ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้อง ว่ากล่าวในทางใดมิได้ เอกสิทธิ์นี้เป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาดที่ได้รับความคุ้มครอง โดยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช2521 มาตรา 114 วรรคแรก จำเลยที่ 2 ทำการถ่ายทอดเสียงการอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภาดังกล่าว เป็นการถ่ายทอดเสียงทันทีทันใดจากการประชุมจึงมิใช่เป็นการโฆษณา รายงานการประชุมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มาตรา 114วรรคสอง ย่อมไม่ได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองตามบทกฎหมายดังกล่าว แต่การที่จำเลยที่ 2 ได้ทำการถ่ายทอดเสียงการอภิปรายดังกล่าว ได้กระทำตามคำสั่งของประธานรัฐสภาและตามมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามลำดับขั้นตอนทุกประการการกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมถือได้ว่ากระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายแม้ข้อความที่จำเลยที่ 1 กล่าวอภิปรายจะเป็นที่เสียหายแก่โจทก์จำเลยที่ 2 ก็ได้รับนิรโทษกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 449 วรรคแรกหาต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ไม่ (วรรคสองวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 4/2528)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2523 จำเลยที่ 1 โดยความร่วมมือของจำเลยที่ 2ได้กล่าวและไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความทางวิทยุกระจายเสียแห่งประเทศไทยซึ่งอยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 กล่าวว่าโจทก์หลีกเลี่ยงภาษีของรัฐอันเป็นข้อความที่ฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์ และเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1และที่ 2 ได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ดังกล่าวโจทก์ขอคิดค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันร่วมกันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 4,140,833.27 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยของต้นเงิน 4,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า การที่จำเลยที่ 1 กล่าวเป็นการแสดงความคิดเห็นและแถลงข้อเท็จจริงในรัฐสภา ได้กล่าวไปตามหลักฐานของทางราชการและหลักฐานอื่น ๆ ตลอดจนข่าวสารที่ได้รับมา มิได้ฝ่าฝืนต่อความจริง จำเลยได้รับสิทธิคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มิได้ละเมิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 2 ให้การว่า มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ การถ่ายทอดเสียงซึ่งอภิปรายในการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2523 จำเลยได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ที่จำเลยที่ 1 กล่าวอภิปรายก็เป็นการกล่าวในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ เอกสิทธิ์ดังกล่าวคุ้มครองถึงจำเลยที่ 2 ด้วย การกระจายข่าวของจำเลยที่ 2 กระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำละเมิด
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงรับกันตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 15 กันยายน 2524 และวันที่ 21ธันวาคม 2524 ว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงรายได้กล่าวอภิปรายในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2525 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 11/2523 (สมัยสามัญ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2523 ตามสำเนารายงานการประชุมเอกสารหมาย ล.1/1 ซึ่งมีข้อความพาดพิงมาถึงโจทก์ว่า โรงงานสังกะสีไทยหลีกเลี่ยงภาษีจำนวน 3,000 บาท กว่าล้านบาท และ 300 กว่าล้านบาท คำว่า โรงงานสังกะสีไทยนั้นหมายถึงโจทก์คดีนี้ ในปี พ.ศ. 2504 ถึง พ.ศ. 2514 และ พ.ศ. 2517 ถึง พ.ศ. 2520 โจทก์ได้เสียภาษีการค้าเกินไป จนกรมสรรพากรคืนภาษีการค้าให้แก่โจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.1 จ.2 ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นได้ถ่ายทอดคำกล่าวอธิปรายของจำเลยที่ 1ทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยตามมติของคณะรัฐมนตรีตามเอกสารหมาย ล.4ถึง ล.16
ศาลฎีกาได้พิจารณาจากข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว เห็นว่า ถ้อยคำของจำเลยที่ 1ที่อภิปรายกล่าวหาว่าโจทก์หลีกเลี่ยงภาษีอากรเป็นจำนวน 3,000 กว่าล้านบาท และ300 กว่าล้านบาทนั้น เป็นข้อความฝ่าฝืนต่อความจริง เพราะแม้แต่จำเลยที่ 1 เองก็แถลงรับต่อศาลว่าโจทก์จะเสียภาษีถูกต้องหรือไม่จำเลยที่ 1 ไม่ทราบดังนี้ เท่ากับจำเลยที่ 1 เอาข้อความที่จำเลยที่ 1 ไม่รู้แน่จริงขึ้นมายืนยันและกล่าวอ้างว่าโจทก์ได้หลีกเลี่ยงภาษีอากรเป็นจำนวนมาก ฉะนั้น ข้อความที่จำเลยที่ 1 กล่าวหาโจทก์นั้นย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติคุณ และทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของโจทก์ เพราะโจทก์ไม่ได้หลีกเลี่ยงการเสียภาษีให้รัฐแต่ประการใด ข้อเท็จจริงยังกลับปรากฏว่ากรมสรรพากรได้คืนเงินภาษีการค้าที่เก็บเกินไปให้แก่โจทก์ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 จ.2
ปัญหาต่อไปในชั้นนี้มีว่า การที่จำเลยที่ 1 กล่าวอธิปรายในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาว่าโจทก์หลีกเลี่ยงภาษีจำนวน 3,000 กว่าล้านบาท และ 300 กว่าล้านบาท และจำเลยที่ 2 ได้ทำการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเผยแพร่ข้อความที่จำเลยที่ 1 อภิปรายดังกล่าวนั้น จำเลยทั้งสองได้รับเอกสิทธิ์ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มาตรา 114 หรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกล่าวอธิปรายของจำเลยที่ 1 ที่เกิดเหตุนี้ จำเลยที่ 1 ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงรายได้กล่าวอภิปรายในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2524ซึ่งมีข้อที่จำเลยที่ 1 วิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องการตรวจสอบภาษีอากรเพื่อให้ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ให้เกิดการรั่วไหล ทั้งนี้เพื่อจะนำเงินงบประมาณที่ได้จากภาษีอากรไปใช้เป็นงบประมาณรายจ่ายของประเทศต่อไป แต่เนื่องจากได้มีคำสั่งของคณะปฏิวัติฉบับที่ 8 ซึ่งห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากรเข้าไปตรวจสอบภาษีของร้านค้า จึงเป็นผลให้มีการเลี่ยงภาษีอากรกันเป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลขาดรายได้มิใช่น้อย แล้วจำเลยที่ 1 ได้กล่าวพาดพิงไปถึงโจทก์ด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่าคำสั่งของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 8 นี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐเก็บภาษีจากโรงงานอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงขอให้รัฐบาลแก้คำสั่งของคณะปฏิวัติฉบับนี้เสียเช่นนี้คำกล่าวอภิปรายของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.1/1 ย่อมเห็นได้ประจักษ์ชัดแจ้งว่าเป็นการกล่าวถ้อยคำไปในทางแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการพิจารณางบประมาณรายจ่ายของรัฐโดยตรง มิใช่เป็นการกล่าวเรื่อยเปื่อยไปดังที่โจทก์ฎีกา แม้ข้อความที่จำเลยที่ 1 กล่าวอธิปรายนั้นจะกระทบกระเทือนและเป็นผลร้ายแก่โจทก์เพียงใดก็ตาม จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับเอกสิทธิ์ ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวในทางใดมิได้ เอกสิทธิ์นี้เป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาดที่ได้รับความคุ้มครองโดยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521มาตรา 114 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า “ในที่ประชุมวุฒิสภาก็ดี ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ดี ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ดี สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใด ๆ ในทางแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดมิได้” ทั้งนี้เพื่อให้สมาชิกแห่งรัฐสภาในระบบประชาธิปไตยได้แถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความผิดเห็นในที่ประชุมได้อย่างอิสระเสรีโดยไม่ต้องคอยพะวงหวั่นเกรงว่าจะไปกระทบกระเทือนหรือเป็นผลร้ายแก่ผู้ใด เหตุนี้โจทก์จะนำคดีมาฟ้องร้องว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดแก่โจทก์หาได้ไม่
ปัญหาต่อไปมีว่า การที่กรมประชาสัมพันธ์จำเลยที่ 2 ทำการถ่ายทอดเสียงการอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภา จะถือว่าเป้นผู้โฆษณารายงานการประชุมตามข้อบังคับของวุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มาตรา 114 วรรคสอง หรือไม่ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยมติที่ประชุมใหญ่แล้ว เห็นว่า รายงานการประชุมนั้นต้องเป็นการบันทึกการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งทำหลังจากที่ได้มีการประชุมแล้ว การโฆษณารายงานการประชุมก็ต้องหมายถึงการโฆษณาบันทึกการประชุมเช่นว่านั้น และตามวรรคสองของมาตรา 114ดังกล่าวใช้คำว่า “ผู้พิมพ์และผู้โฆษณารายงานการประชุม” เช่นนี้หมายความว่ามีการพิมพ์รายงานการประชุมแล้ว และมีการโฆษณารายงานการประชุมที่พิมพ์นั้นเหตุนี้การถ่ายทอดเสียงทันทีทันใดจากการประชุมย่อมไม่ได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าว แต่ถึงอย่างไรก็ดีศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2524 ของรัฐสภาในวันดังกล่าว จำเลยที่ 2 มิได้กระทำโดยพลการตนเองแต่ประการใด แต่ได้กระทำตามคำสั่งของประธานรัฐสภาและตามมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามลำดับขั้นตอนทุกประการ การกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมถือได้ว่ากระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย แม้ข้อความที่จำเลยที่ 1 กล่าวอภิปรายจะเป็นที่เสียหายแก่โจทก์ก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็หาต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ไม่ เนื่องจากจำเลยที่ 2 ได้รับนิรโทษกรรมตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 449 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลใดเมื่อกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี กระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายก็ดีหากก่อให้เกิดเสียหายแก่ผู้อื่นไซร์ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share