คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1983/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อน ป. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายได้ทำหนังสือให้ความยินยอมให้จำเลยหักเงินจากบัญชีเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยชำระหนี้บัตรเครดิตของ ม. แม้ ม. จะเป็นหนี้จากการใช้บัตรเครดิตของจำเลยครั้งสุดท้ายก่อนวันที่ ป. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายและหนี้ดังกล่าวไม่ระงับลงเพราะความตายของ ป. เจ้ามรดกก็ตาม แต่การที่จำเลยจะใช้สิทธิและอำนาจในการหักเงินจากบัญชีเงินฝากของ ป. เจ้ามรดก จำเลยจะต้องดำเนินการในระหว่างที่หนังสือให้ความยินยอมมีผลใช้บังคับ หาใช่จะใช้สิทธิและอำนาจตามอำเภอใจเมื่อใดก็ได้ เมื่อหนังสือให้ความยินยอมทำขึ้นเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นจากการใช้บัตรเครดิตที่จำเลยออกให้แก่ ม. โดยสภาพจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวของ ป. เจ้ามรดก เมื่อ ป. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย หน้าที่และความรับผิดตามหนังสือให้ความยินยอมย่อมสิ้นสุดลงหาเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทไม่ จำเลยจะอาศัยแสวงสิทธิจากหนังสือให้ความยินยอมหักเงินจากบัญชีเงินฝากของ ป. เจ้ามรดกหลังจาก ป. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายหาได้ไม่ โดยไม่ต้องพิจารณาว่าจำเลยจะทราบเรื่องที่ ป. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วหรือไม่ การที่จำเลยหักเงินจากบัญชีเงินฝากของ ป. เจ้ามรดกชำระหนี้บัตรเครดิตของ ม. จึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 350,294.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,392.06 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยชำระต้นเงินจำนวน 200,392.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 15 พฤศจิกายน 2548) ไม่ให้เกิน 150,294.05 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งในชั้นฎีกาว่า นายประสงค์ สมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตวีซ่ากับจำเลยและจำเลยออกบัตรเครดิตวีซ่าเลขที่ 4966-9401-0007-8212 ให้แก่นายประสงค์ ต่อมานายประสงค์เปิดบัญชีเงินฝากประจำประเภท 3 เดือน บัญชีเลขที่ 001-3-38140-5 เป็นเงิน 200,000 บาท ไว้กับจำเลย ในวันเดียวกันนายมณฑล สมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตวีซ่ากับจำเลย และจำเลยออกบัตรเครดิตวีซ่าเลขที่ 4966-9411-0233-3019 ให้แก่นายมณฑล เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นจากการใช้บัตรเครดิตวีซ่าที่จำเลยออกให้แก่นายมณฑล นายประสงค์ทำหนังสือให้ความยินยอมให้จำเลยหักเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยชำระหนี้นั้นจนครบถ้วนทันที บัญชีเงินฝากของนายประสงค์มียอดเงินฝากคงเหลือ 200,392.06 บาท ต่อมานายประสงค์ถึงแก่ความตาย ครั้นศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งตั้งโจทก์ซึ่งเป็นบุตรนายประสงค์เป็นผู้จัดการมรดกของนายประสงค์ นายประสงค์มีหนี้จากการใช้บัตรเครดิตวีซ่าของจำเลยครั้งสุดท้ายจำนวน 62,829.01 บาท ส่วนนายมณฑลมีหนี้จากการใช้บัตรเครดิตวีซ่าของจำเลยครั้งสุดท้ายจำนวน 170,147.56 บาท หลังจากนั้นจำเลยหักเงินจากบัญชีเงินฝากของนายประสงค์เพื่อชำระหนี้บัตรเครดิตของนายประสงค์และหนี้บัตรเครดิตของนายมณฑล
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีสิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากของนายประสงค์เพื่อชำระหนี้บัตรเครดิตของนายประสงค์และหนี้บัตรเครดิตของนายมณฑลหรือไม่ สำหรับการหักเงินจากบัญชีเงินฝากของนายประสงค์เพื่อชำระหนี้บัตรเครดิตของนายประสงค์ จำเลยฎีกาอ้างว่า บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 5.1 ระบุว่า “ผู้ใช้บริการตกลงให้ธนาคารออกเงินให้ก่อนทันที โดยไม่ต้องขอความยินยอมและ/หรือแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบล่วงหน้าและผู้ใช้บริการยินยอมชดใช้เงินที่ธนาคารได้จ่ายไปก่อนแล้วให้ธนาคารเต็มจำนวนโดยยอมให้ธนาคารหักบัญชี” ซึ่งในบันทึกข้อตกลงและคำยินยอมท้ายบันทึกไม่ได้ระบุว่าให้จำเลยหักเงินจากบัญชีเงินฝากเลขบัญชีใดของนายประสงค์ชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตของนายประสงค์ ดังนั้น จำเลยจึงหักเงินในบัญชีเงินฝากของนายประสงค์ที่ได้ฝากไว้กับจำเลยได้ทุกบัญชีเพื่อชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตของนายประสงค์ เห็นว่า แม้บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้บัตรวีซ่าจะระบุให้จำเลยหักเงินจากบัญชีเงินฝากของนายประสงค์ชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตของนายประสงค์ได้ก็ตาม แต่ในบันทึกข้อตกลงนั้นก็ระบุให้หักเงินจากบัญชีเงินฝากหมายเลขบัญชีอื่น ไม่ใช่หมายเลขบัญชีเงินฝากที่เป็นเหตุพิพาทในคดีนี้ ทั้งบัญชีเงินฝากดังกล่าวนายประสงค์ก็เพิ่งเปิดบัญชีหลังจากที่นายประสงค์สมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตวีซ่าของจำเลยแล้ว โดยไม่ปรากฏว่านายประสงค์ได้ให้ความยินยอมให้จำเลยหักเงินจากบัญชีเงินฝากนี้ชำระหนี้นั้นแต่อย่างใด ดังนั้น การที่จำเลยหักเงินจากบัญชีเงินฝากของนายประสงค์ชำระหนี้บัตรเครดิตของนายประสงค์จึงเป็นการใช้สิทธินอกเหนือไปจากเจตนาที่นายประสงค์ได้แสดงให้ไว้แก่จำเลย จึงเป็นการไม่ชอบ ส่วนการหักเงินจากบัญชีเงินฝากของนายประสงค์เพื่อชำระหนี้บัตรเครดิตของนายมณฑลนั้น จำเลยฎีกาอ้างว่า จำเลยมีสิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากของนายประสงค์เพื่อชำระหนี้บัตรเครดิตของนายมณฑลได้ เพราะเป็นหนี้ที่นายมณฑลก่อขึ้นก่อนที่นายประสงค์จะถึงแก่ความตาย โดยจำเลยจะใช้สิทธิหักเมื่อใดนั้นเป็นเรื่องวิธีปฏิบัติของจำเลย หนังสือยินยอมและคำยินยอมของนายประสงค์ย่อมไม่สิ้นสุดลงเพราะนายประสงค์ถึงแก่ความตายนั้น เห็นว่า แม้นายมณฑลจะเป็นหนี้จากการใช้บัตรเครดิตวีซ่าของจำเลยครั้งสุดท้ายจำนวน 170,147.56 บาท ก่อนที่นายประสงค์จะถึงแก่ความตาย และหนี้ดังกล่าวไม่ระงับลงเพราะความตายของนายประสงค์ก็ตาม แต่การที่จำเลยจะใช้สิทธิและอำนาจในการหักเงินจากบัญชีเงินฝากของนายประสงค์ได้นั้น จำเลยจะต้องดำเนินการในระหว่างที่หนังสือให้ความยินยอมมีผลใช้บังคับ หาใช่จะใช้สิทธิและอำนาจนั้นตามอำเภอใจเมื่อใดก็ได้ เมื่อหนังสือให้ความยินยอมทำขึ้นเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นจากการใช้บัตรเครดิตวีซ่าที่จำเลยออกให้แก่นายมณฑล โดยสภาพจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวของนายประสงค์ เมื่อนายประสงค์ถึงแก่ความตายหน้าที่และความรับผิดตามหนังสือให้ความยินยอมนั้นย่อมสิ้นสุดลงหาเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทไม่ ดังนั้น จำเลยจะอาศัยแสวงสิทธิจากหนังสือให้ความยินยอมดังกล่าวหักเงินจากบัญชีเงินฝากของนายประสงค์หลังจากนายประสงค์ถึงแก่ความตายหาได้ไม่ โดยไม่จำต้องพิจารณาว่า จำเลยจะทราบเรื่องที่นายประสงค์ถึงแก่ความตายแล้วหรือไม่ การที่จำเลยหักเงินจากบัญชีเงินฝากของนายประสงค์ชำระหนี้บัตรเครดิตของนายมณฑลจึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง การที่โจทก์ขอให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 200,392.06 บาท นับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยไม่ปรากฏเหตุอย่างอื่นนั้น ถือเป็นการขอคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 เมื่อไม่ปรากฏวันที่แน่ชัดที่โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้วจำเลยไม่ชำระและตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยนี้นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยตามที่โจทก์ขอ เท่ากับพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยก่อนวันผิดนัด เป็นการให้จำเลยรับผิดมากกว่าที่จำเลยต้องรับผิดตามกฎหมาย จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยไม่ได้ยกขึ้นอ้างในฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 พฤศจิกายน 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share