คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9499/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอันทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง แต่ฝ่ายจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้ครอบครองในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ก็ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองเช่นกันจึงไม่อาจนำข้อสันนิษฐานของกฎหมายมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่คู่ความฝ่ายใดได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ทะเบียนเลขที่ 840 ด้านทิศใต้เนื้อที่ 2 งาน 65 ตารางวาเศษ ตำบลเหล่า อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ห้ามจำเลยทั้งสองพร้อมบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าว ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินตามที่โจทก์ขอให้โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษา หากจำเลยทั้งสองไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ด้านทิศใต้ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ทะเบียนเลขที่ 840 ตำบลเหล่า อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม เนื้อที่ 2 งาน 37 ตารางวา ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาท ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ทะเบียนเลขที่ 840 ตำบลเหล่า อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ด้านทิศใต้เนื้อที่ 2 งาน 37 ตารางวา อันเป็นที่ดินพิพาทข้างต้น ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินให้โจทก์ภายใน 15 วัน หากไม่ไปถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้ยกเนื่องจากจำเลยทั้งสองไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมที่จะต้องดำเนินการเช่นนั้นกับโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้โจทก์ออกไปจากที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ทะเบียนเลขที่ 840 ตำบลเหล่า อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ห้ามโจทก์กับบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องหรือรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งสอง ให้โจทก์ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมฟ้องแย้งทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความศาลชั้นต้น 3,000 บาท ศาลอุทธรณ์ 1,500 บาท ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องโจทก์ทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ร่วมกับนายเคนซื้อที่ดินพิพาททั้งแปลงจากนายพลอยและโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินส่วนที่พิพาทหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นผู้ครอบครองที่ดินส่วนที่พิพาทอันจะทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่โจทก์ฎีกา แต่ฝ่ายจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้ครอบครองในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ก็ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองเช่นกัน จึงไม่อาจนำข้อสันนิษฐานของกฎหมายมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่คู่ความฝ่ายใดในกรณีนี้ได้ คดีนี้โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเพียงปากเดียวที่เบิกความยืนยันว่า เมื่อปี 2514 ได้ร่วมกับนายเคนบิดาของจำเลยทั้งสองซื้อที่ดินพิพาททั้งแปลงตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน จากนายพลอยในราคา 1,500 บาท โดยโจทก์กับนายเคนจ่ายเงินคนละครึ่งคือคนละ 750 บาท เมื่อนายพลอยสละการครอบครองที่ดินให้แก่โจทก์และนายเคนแล้ว โจทก์และนายเคนจึงตกลงแบ่งที่ดินดังกล่าวเข้าครอบครองใช้ประโยชน์คนละครึ่ง โดยที่ดินส่วนของโจทก์อยู่ทางด้านทิศใต้ตามแนวเขตเส้นสีแดงในแผนที่พิพาท ส่วนที่ดินส่วนของนายเคนอยู่ทางด้านทิศเหนือ โดยโจทก์ไม่มีหลักฐานการซื้อขายเป็นหนังสือมาแสดงแต่อย่างใด แม้โจทก์จะมีนายทวีศิลป์ นายประมวลศิลป์ นางสมบัติ นางหนูจวน พยานที่อาศัยอยู่ข้างเดียวกับที่ดินพิพาทและนายสว่าง กับนายอุดม ซึ่งเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลในท้องที่ทรัพย์พิพาทตั้งอยู่มาเบิกความเป็นพยานฝ่ายโจทก์ก็ตาม แต่พยานเหล่านี้ก็มิได้มีผู้ใดที่รู้เห็นการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์และนายเคนกับนายพลอยด้วยตนเองแต่อย่างใด คงเป็นเพียงพยานที่ได้รับการบอกเล่ามาจากผู้อื่นอีกทอดหนึ่งเท่านั้น และแม้พยานโจทก์เหล่านี้จะเบิกความสนับสนุนโจทก์ว่า เห็นโจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททางด้านทิศใต้มาโดยตลอดจนกระทั่งมีเรื่องทะเลาะกันเพราะมีการรื้อรั้วลวดหนามในปี 2548 ก็ตาม แต่พยานโจทก์ก็มิได้เบิกความให้ชัดเจนว่า โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยฐานะใด โดยเฉพาะนายสว่าง นายอุดม ซึ่งเคยเป็นผู้ปกครองในท้องที่ที่ทรัพย์พิพาทตั้งอยู่และนายประมวลศิลป์พยานโจทก์ซึ่งขณะเบิกความมีอายุมากถึง 64 ปี นับเป็นคนเก่าแก่ในท้องที่ก็เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านทำนองเดียวกันว่า ไม่เคยทราบมาก่อนว่าโจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะอะไร ทั้งไม่เคยสอบถามโจทก์ด้วย ส่วนพยานฝ่ายจำเลยทั้งสอง นอกจากตัวจำเลยทั้งสองจะมาเบิกความว่า นายเคนบิดาของจำเลยทั้งสองเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาททั้งแปลงจากนายพลอยเพียงคนเดียวในราคา 1,500 บาท ตั้งแต่ปี 2501 โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นผู้อยู่รู้เห็นด้วย เพราะมีการชำระเงินค่าที่ดินกันที่บ้านของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่กับบิดาแล้ว จำเลยทั้งสองยังมีนายทองสุข ซึ่งเป็นคนเฒ่าคนแก่ในท้องที่อีกคนหนึ่งและมีตำแหน่งในการปกครองหมู่บ้านโดยเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในช่วงปี 2501 ถึงปี 2518 หลังจากนั้นได้เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 จนถึงปี 2539 มาเบิกความยืนยันด้วยว่ารู้ถึงความเป็นมาของที่ดินพิพาทเป็นอย่างดีเพราะตนจะเห็นที่ดินพิพาททุกครั้งที่ผ่านไปทำนา เดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายพลอย ต่อมาในปี 2501 นายพลอยขายที่ดินพิพาทให้นายเคนในราคา 1,500 บาท มีการชำระเงินที่บ้านของนายเคนซึ่งขณะนั้นตนก็อยู่ที่บ้านของนายเคนและรู้เห็นการซื้อขายด้วย หลังจากนายเคนมอบเงินค่าที่ดินให้นายพลอยแล้ว นายพลอยก็ส่งมอบหนังสือ ส.ค. 1 ให้แก่นายเคน ในวันดังกล่าว โจทก์ไม่ได้อยู่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายอันสอดคล้องตรงกันกับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 นอกจากนี้ยังได้ความจากพยานจำเลยปากนี้ต่อมาอีกว่า ในปี 2515 ทางราชการมีนโยบายที่จะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ให้แก่ราษฎรที่ครอบครองที่ดินซึ่งตนก็ได้แจ้งให้ราษฎรที่ครอบครองที่ดินทราบและได้ร่วมกับนายเคน ผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้นนำราษฎรออกสำรวจที่ดินแปลงต่าง ๆ ภายในหมู่บ้าน ซึ่งนายเคนเองก็ได้นำเจ้าหน้าที่ออกเดินสำรวจเพื่อออก น.ส. 3 ก. ในที่ดินพิพาทโดยโจทก์ไม่ได้มีส่วนร่วมแต่อย่างใด อันเจือสมกับคำของนายธวัชชัย เจ้าหน้าที่รังวัด สำนักงานที่ดินจังหวัดมหาสารคาม สาขาโกสุมพิสัย ที่เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า ในช่วงปี 2516 เจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินจังหวัดมหาสารคาม สาขาโกสุมพิสัย ได้ทำการเดินสำรวจและออก น.ส. 3 ก. ให้แก่ชาวบ้านซึ่งในทางปฏิบัติภายหลังจากที่มีการสอบสวนสิทธิแล้ว สำนักงานที่ดินก็จะทำการประกาศเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียไปทำการคัดค้านการออก น.ส. 3 ก. ดังกล่าว หากไม่มีผู้คัดค้านภายใน 30 วัน จึงจะดำเนินการออก น.ส. 3 ก. ให้แก่ผู้ครอบครองที่ดินต่อไป แต่ในการขอออก น.ส. 3 ก. ในที่ดินพิพาทของนายเคนในครั้งนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ไปทำการคัดค้านว่า โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทครึ่งหนึ่งเพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินแบ่งแยก น.ส. 3 ก. ให้โจทก์ด้วยแต่อย่างใด ที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องและนำสืบว่า ในการเดินสำรวจเพื่อออก น.ส. 3 ก. ครั้งดังกล่าว โจทก์ได้มอบให้นายเคนเป็นผู้นำเจ้าพนักงานที่ดินเดินสำรวจและให้ใส่ชื่อนายเคนใน น.ส. 3 ก. แทนโจทก์ เพื่อจะมาจดทะเบียนแบ่งแยกกันในภายหลังนั้น คงมีเพียงคำเบิกความของโจทก์เองปากเดียวลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ทั้งข้ออ้างดังกล่าวก็ขัดต่อเหตุผล เพราะการจดทะเบียนเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้นย่อมเป็นหลักฐานสำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองของผู้ที่มีชื่อในหนังสือนั้น ซึ่งหากโจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทจริง ก็น่าจะรีบฉวยโอกาสดังกล่าวนำเจ้าหน้าที่ที่ดินออกเดินสำรวจเพื่อขอออก น.ส. 3 ก. ในชื่อของตนเองเสียทีเดียว หรือหากโจทก์ไม่สามารถนำสำรวจเองได้ก็น่าจะทำหนังสือมอบอำนาจให้นายเคนเป็นผู้นำสำรวจแทนให้เป็นเรื่องเป็นราว แล้วรีบขวนขวายดำเนินการให้ตนมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเสียโดยเร็วเท่าที่จะทำได้ แต่โจทก์หาได้กระทำเช่นนั้นไม่ กลับปล่อยปละละเลยให้เวลาผ่านไปถึง 32 ปี แล้วจึงมาฟ้องร้องเรียกคืนอันเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยและถือเป็นพิรุธของพยานโจทก์ นอกจากนี้เมื่อนายเคนถึงแก่ความตายและจำเลยทั้งสองไปดำเนินการจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทจากนายเคนเมื่อปี 2526 ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าวทางสำนักงานที่ดินจังหวัดมหาสารคาม สาขาโกสุมพิสัย ย่อมจะต้องมีการปิดประกาศแจ้งให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไปดำเนินการคัดค้านแต่ในครั้งนั้นก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ไปดำเนินการโต้แย้งคัดค้านไว้ทั้ง ๆ ที่โจทก์ก็อ้างว่า ได้ครอบครองทำประโยชน์อยู่ในที่ดินพิพาทมาโดยตลอด ที่โจทก์เบิกความอ้างว่า หลังจากนายเคนถึงแก่ความตาย โจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยทั้งสองได้โอนที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลยทั้งสองในฐานะทายาทผู้รับมรดกของนายเคนนั้นไม่มีเหตุผลให้รับฟัง อีกทั้งข้อเท็จจริงปรากฏตามสารบัญจดทะเบียนด้านหลังสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ภายหลังจากจดทะเบียนรับโอนมรดกแล้วจำเลยทั้งสองได้นำที่ดินพิพาททั้งแปลงไปจำนองไว้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 16 สิงหาคม 2526 และมีการขึ้นเงินจำนองอีก 1 ครั้ง ในวันที่ 31 มกราคม 2527 ซึ่งก่อนจดทะเบียนจำนองก็ย่อมจะต้องมีเจ้าหน้าที่ของธนาคารออกไปตรวจดูหลักทรัพย์คือที่ดินพิพาทเพื่อประเมินราคาด้วย แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทำการโต้แย้งคัดค้านอีกเช่นกัน ประกอบกับได้ความว่า บิดามารดาจำเลยทั้งสองรวมทั้งจำเลยทั้งสองได้เป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ในที่ดินแปลงพิพาทตลอดมาโดยโจทก์ไม่เคยเสีย ดังนี้ พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองจึงดีกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า โจทก์มิได้ร่วมกับนายเคนซื้อที่ดินพิพาทและครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของ แต่โจทก์ได้รับอนุญาตจากนางน้อยมารดาของจำเลยทั้งสองให้เข้าไปปลูกหม่อนในที่ดินพิพาทเมื่อปี 2537 เป็นต้นมา โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้โจทก์และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทตามฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองและให้ยกฟ้องของโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งตามฟ้องและฟ้องแย้งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share