คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5485/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจแผ่นแรกระบุผู้มอบอำนาจไว้ว่า “ข้าพเจ้า ก.กับพวก รวม 4 คน” ขอมอบอำนาจให้ ส.เป็นผู้มีอำนาจฟ้องบริษัทท.เรื่อง ค่าจ้าง และในช่องผู้มอบอำนาจได้มีลายมือชื่อ ก. โจทก์ที่ 1 ลงไว้แต่ผู้เดียว แต่ในแผ่นที่ 2 ได้มีบัญชีรายชื่อลายมือชื่อ อายุ ที่อยู่ ผู้มอบอำนาจท้ายใบมอบอำนาจ และมีช่องแสดงลำดับที่รายชื่อ ผู้มอบอำนาจลายมือชื่อผู้มอบอำนาจ อายุและที่อยู่ไว้โดยโจทก์ทั้งสี่มีรายชื่อ ในช่องรายชื่อ ผู้มอบอำนาจและลงลายมือชื่อในช่องลายมือชื่อผู้มอบอำนาจไว้ทุกคน และใช้เป็นเอกสารแนบท้ายหนังสือมอบอำนาจฉบับแรก ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสี่ได้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้ ส. ฟ้องคดีนี้แล้ว โจทก์ทั้งสี่มอบอำนาจให้ ส.ฟ้องบริษัทท. เรื่องค่าจ้างซึ่งเป็นเรื่องเดียวโดยเฉพาะ จึงเป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวกระทำการครั้งเดียวตามข้อ 7(ก) ของบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6เรื่อง อากรแสตมป์ แห่งประมวลรัษฎากร แม้ในหนังสือมอบอำนาจจะมีข้อความว่า โดยให้มีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ทั้งสี่ทุกประการรวมทั้งกระบวนพิจารณาที่เป็นไปในทางจำหน่ายสิทธิของคู่ความ เช่นการยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอน ฟ้องการประนีประนอมยอมความการสละสิทธิหรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาหรือในการขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้ด้วยก็ตาม ก็เป็นเรื่องกระบวนพิจารณาที่ผู้รับมอบอำนาจจำต้องกระทำในการพิจารณาของศาลอันสืบเนื่องมาจากการฟ้องคดีตามที่ได้รับมอบอำนาจ หาใช่เป็นเรื่องอื่นต่างหากจากการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่ ดังนั้น ผู้มอบอำนาจจึงชอบที่จะเสียอากรโดยปิดแสตมป์เพียง 10 บาท อุทธรณ์ของจำเลยซึ่งเป็นเรื่องขอให้ศาลฎีการับฟังว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันที่โจทก์ลาป่วย โดยจำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์มิได้ป่วยจริง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันที่โจทก์ทั้งสี่ลาป่วย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้นายสมศักดิ์ เถกิงนามฟ้องคดีนี้กับมิได้มีปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจให้ถูกต้องตามประมวลรัษฎากร โจทก์ทั้งสี่มิได้ป่วยจริง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าตามหนังสือมอบอำนาจแผ่นแรกระบุเพียงว่า “ข้าพเจ้า นายกานต์ดวงมาลย์มั่น กับพวกรวม 4 คน” โดยมิได้ระบุว่าเป็นใครบ้างทั้งไม่มีข้อความตอนใดบ่งว่าหนังสือมอบอำนาจมีความเกี่ยวพันหรือมีใบแนบต่อท้าย จะฟังว่าบัญชีรายชื่อแนบท้ายหนังสือมอบอำนาจเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือมอบอำนาจหาได้ไม่ นายสมศักดิ์ เถกิงนาม จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิเคราะห์แล้ว ตามหนังสือใบมอบอำนาจแล้ว ลงวันที่9 เมษายน 2530 ท้ายคำฟ้องสารบาญอันดับ 2 รวม 2 แผ่น แผ่นแรกระบุผู้มอบอำนาจไว้ว่า “ข้าพเจ้า นายกานต์ ดวงมาลย์มั่น กับพวกรวม 4 คน”ขอมอบอำนาจให้ นายสมศักดิ์ เถกิงนาม เป็นผู้มีอำนาจฟ้องบริษัทไทยเม็ททอล จำกัด เรื่องค่าจ้าง และในช่องผู้มอบอำนาจได้มีลายมือชื่อของนายกานต์ ดวงมาลย์มั่น โจทก์ที่ 1 ลงไว้แต่ผู้เดียวแต่ในแผ่นที่ 2 ได้มีบัญชีรายชื่อ ลายมือชื่อ อายุ ที่อยู่ผู้มอบอำนาจท้ายใบมอบอำนาจ และมีช่องแสดงลำดับที่รายชื่อผู้มอบอำนาจ ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจ อายุ และที่อยู่ไว้ โดยโจทก์ทั้งสี่ได้ลงรายชื่อไว้ในช่องรายชื่อผู้มอบอำนาจและลงลายมือชื่อในช่องลายมือชื่อผู้มอบอำนาจไว้ทุกคนและใช้เป็นเอกสารแนบท้ายหนังสือมอบอำนาจฉบับแรก ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสี่ได้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้นายสมศักดิ์ เถกิงนาม ฟ้องคดีนี้แล้ว
จำเลยอุทธรณ์ข้อต่อไปว่า ตามหนังสือมอบอำนาจฉบับดังกล่าวนอกจากโจทก์ทั้งสี่มอบอำนาจในการฟ้องคดีแล้ว ยังได้ให้อำนาจในการกระทำอย่างอื่นเช่น การยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความการสละสิทธิหรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาหรือในการขอให้พิจารณาคดีใหม่ ซึ่งเป็นการมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว ต้องปิดอากรแสตมป์รวม 120 บาทแต่โจทก์ปิดอากรแสตมป์เพียง 40 บาท จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้พิเคราะห์แล้ว ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 เรื่อง อากรแสตมป์แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดลักษณะแห่งตราสารที่จะต้องเสียอากรไว้ในข้อ 7 ว่า ใบมอบอำนาจ คือใบตั้งตัวแทนซึ่งมิได้กระทำในรูปลักษณะตราสารสัญญา รวมทั้งใบตั้งอนุญาโตตุลาการ (ก) มอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนกระทำการครั้งเดียว ค่าอากรแสตมป์ 10 บาท(ข) มอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกระทำการมากกว่าครั้งเดียว ค่าอากรแสตมป์ 30 บาท ฯลฯ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามหนังสือมอบอำนาจท้ายคำฟ้อง เอกสารสารบาญอันดับ 2 ที่โจทก์ทั้งสี่มอบอำนาจให้นายสมศักดิ์ เถกิงนาม ฟ้องบริษัทไทยเม็ททอล จำกัดเรื่อง ค่าจ้าง ซึ่งเป็นเรื่องเดียวโดยเฉพาะ จึงเป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวกระทำการครั้งเดียวตามข้อ 7 (ก) ของบัญชีอัตราอากรแสตมป์ดังกล่าว ส่วนที่โจทก์ทั้งสี่ได้ระบุข้อความต่อไปในหนังสือมอบอำนาจว่า โดยให้มีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ทั้งสี่ทุกประการรวมทั้งกระบวนพิจารณาที่เป็นไปในทางจำหน่ายสิทธิของคู่ความ เช่นการยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้องการประนีประนอมยอมความการสละสิทธิหรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาหรือในการขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้ด้วยนั้น เป็นเรื่องกระบวนพิจารณาที่ผู้รับมอบอำนาจจำต้องกระทำในการพิจารณาของศาลอันสืบเนื่องมาจากการฟ้องคดีตามที่ได้รับมอบอำนาจ กรณีหาใช่เป็นเรื่องอื่นต่างหากจากการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่ ที่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้มอบอำนาจได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์คนละ 10 บาท รวมเป็นอากรแสตมป์40 บาท จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า โจทก์ที่ 3 บรรยายฟ้องว่าโจทก์ที่ 3 ได้ลาป่วยในวันที่ 20 และ 21 มีนาคม 2530 แต่ในชั้นพิจารณา โจทก์ที่ 3 เบิกความว่า โจทก์ที่ 3 ป่วยเมื่อวันที่ 22และ 23 มีนาคม 2530 และจำเลยไม่จ่ายค่าจ้างในวันลาป่วยดังกล่าวจึงเป็นกรณีข้อเท็จจริงชั้นพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงตามคำฟ้องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ และจำเลยได้นำสืบว่า ในวันที่ 22 มีนาคม2530 เป็นวันหยุด และวันที่ 23 มีนาคม 2530 จำเลยได้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ที่ 3 แล้วที่ศาลแรงงานกลางให้จำเลยชำระค่าจ้างจำนวน290 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 3 จึงไม่ถูกต้อง พิเคราะห์แล้ว โจทก์ที่ 3บรรยายฟ้องว่า โจทก์ที่ 3 ได้ลาป่วยเมื่อวันที่ 20 และ 21 มีนาคม2530 รวม 2 วัน จำเลยมิได้ให้การโดยแจ้งชัดอันเป็นการปฏิเสธในเรื่องวันลาป่วยนี้ จำเลยคงให้การต่อสู้เพียงว่าโจทก์ที่ 3 มิได้ป่วยจริงเท่านั้น ปัญหาข้อนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 3ป่วยจริง และจำเลยยังมิได้จ่ายค่าจ้างในวันที่ 20 และวันที่ 21มีนาคม 2530 ให้แก่โจทก์ที่ 3 จริง ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นเรื่องที่ขอให้ศาลฎีการับฟังว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันที่ 20 และวันที่ 21 มีนาคม 2530 ให้แก่โจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางดังกล่าวอันเป็นข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างตามคำฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งสี่นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share