คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4753/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ทำร้ายร่างกายด้วยการชกต่อย ว. ลูกจ้างของจำเลยในระหว่างเปลี่ยนกะการทำงาน เป็นความผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ว่า ไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการทำงานหรือก่อให้เกิดความรำคาญแก่พนักงานอื่น แต่ไม่ปรากฏว่า ว. ได้รับบาดเจ็บมากน้อยเท่าใด หรือเป็นการกระทบกระเทือนกิจการงานของจำเลยและรบกวนการทำงานของพนักงานอื่นอย่างไรแม้ศาลจะลงโทษจำคุกโจทก์ 1 เดือน ปรับ 500 บาท และให้รอการลงโทษจำคุกไว้ก็ยังไม่เพียงพอจะถือได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรง อันจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินบำเหน็จ
จำเลยให้การว่าโจทก์ทำร้ายร่างกายนายวรเนตรพนักงานร่วมงานในบริเวณบริษัทจำเลยเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรงจำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าส่วนเงินบำเหน็จโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเพราะไม่เข้ากรณีตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการที่โจทก์ทำร้ายร่างกายพนักงานในบริเวณบริษัทไม่ใช่ความผิดร้ายแรงและโจทก์มิได้ถูกจำคุกจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์แต่เป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าส่วนเงินบำเหน็จกรณีของโจทก์ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่าการที่โจทก์ทำร้ายร่างกายลูกจ้างของจำเลยในบริเวณที่ทำการของจำเลยแม้จะเป็นผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่กำหนดว่า ‘ไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการทำงานหรือก่อให้เกิดความรำคาญแก่พนักงานอื่น’แต่การรบกวนการทำงานหรือก่อให้เกิดความรำคาญแก่พนักงานอื่นซึ่งจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้นจะต้องเป็นกรณีร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 47 (3) ศาลฎีกาเห็นว่าการทำร้ายร่างกายด้วยการชกต่อยในระหว่างเปลี่ยนกะการทำงานโดยไม่ปรากฏว่านายวรเนตรผู้ถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บมากน้อยเท่าใดหรือเป็นการกระทบกระเทือนกิจการงานของจำเลยและรบกวนการทำงานของพนักงานอื่นอย่างไรแม้ศาลจะลงโทษจำคุกโจทก์ 1 เดือนปรับ 500 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปีก็ตามก็ยังไม่เพียงพอจะถือได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรงอันจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
พิพากษายืน.

Share