คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3966/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกจ้างตกลงยินยอมให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างโดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีของลูกจ้างในธนาคารและได้รับเงินเดือนโดยวิธีการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากที่ธนาคารตลอดมา เช่นนี้ เมื่อนายจ้างโอนเงินค่าจ้างเข้าบัญชีของลูกจ้างที่ธนาคารในเดือนใดแล้ว นายจ้างก็หมดหน้าที่ในการจ่ายค่าจ้างในเดือนนั้น และเป็นการจ่ายเงินค่าจ้างโดยชอบแล้ว ลูกจ้างจะใช้สิทธิเบิกถอนเงินจากธนาคารเมื่อใดเป็นเรื่องส่วนตัวและมิใช่เป็นการปฏิบัติงานให้นายจ้าง แม้นายจ้างจะอนุญาตให้ลูกจ้างไปเบิกถอนเงินค่าจ้างจากธนาคารได้ก็เป็นเรื่องที่มิให้ลูกจ้างถูกกล่าวหาว่าละทิ้งหน้าที่เท่านั้นการที่ลูกจ้างประสบอันตรายจนถึงแก่ความตายขณะเดินทางไปเบิกเงินค่าจ้างจากธนาคารจึงมิใช่เป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างอันจะเป็นเหตุให้นายจ้างต้องจ่ายค่าทดแทนแก่ทายาทของลูกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2529 นายมานิตย์ ฤดูดีลูกจ้างของโจทก์ขับขี่รถจักรยานยนต์ไปในตัวเมืองจังหวัดกระบี่เพื่อทำกิจธุระส่วนตัวที่ธนาคารออมสิน ระหว่างการเดินทางนายมานิตย์ประสบอุบัติเหตุชนกับรถยนต์บุคคลอื่นถึงแก่ความตายต่อมาโจทก์ได้รับคำสั่งพนักงานเงินทดแทนให้โจทก์จ่ายค่าทดแทนแก่บิดามารดา ภรรยา กับบุตรของนายมานิตย์เป็นรายเดือนมีกำหนด 5 ปี ตามข้อ 50 และข้อ 54(4) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อจำเลย และได้รับคำสั่งอธิบดีกรมแรงงานวินิจฉัยว่าลูกจ้างของโจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง โจทก์เห็นว่าคำสั่งของอธิบดีกรมแรงงานดังกล่าวไม่ชอบเพราะการที่นายมานิตย์ไปเบิกเงินเดือนเป็นเรื่องส่วนตัว อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจึงมิใช่เป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ต้องจ่ายค่าทดแทนให้แก่ทายาทของนายมานิตย์ ขอให้เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมแรงงานที่ 6/2530 เรื่อง อุทธรณ์คำสั่งพนักงานเงินทดแทน ลงวันที่ 20 มีนาคม 2530
จำเลยให้การว่า การที่นายมานิตย์ไปรับค่าจ้างที่ธนาคารออมสินตามที่โจทก์ได้โอนค่าจ้างเข้าบัญชีในวันจ่ายค่าจ้างนั้น โจทก์ไม่ถือเป็นวันลาแต่ต้องกลับมาทำงานต่อไป การให้ลูกจ้างไปรับค่าจ้างที่ธนาคารแทนที่จะจ่าย ณ สถานที่ที่ลูกจ้างทำงานเป็นการให้ลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างหรือเป็นการปฏิบัติงานให้แก่นายจ้างเมื่อลูกจ้างได้รับอันตรายถึงแก่ความตายระหว่างเดินทางไปรับค่าจ้างจึงเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายค่าทดแทนแก่ผู้มีสิทธิตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานคำสั่งของอธิบดีกรมแรงงานจึงชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า นายมานิตย์ตกลงยินยอมให้โจทก์จ่ายค่าจ้างโดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีของลูกจ้างในธนาคาร เมื่อโจทก์โอนเงินเข้าบัญชีแล้วเงินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกจ้าง การขออนุญาตต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อไปเบิกเงินมิใช่เป็นคำสั่งให้ไปเบิกเงิน ที่นายมานิตย์ถึงแก่ความตาย มิใช่การประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมแรงงาน ที่ 6/2530 เรื่องอุทธรณ์คำสั่งพนักงานเงินทดแทนของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ได้ความว่าโจทก์ได้มีบันทึก เรื่อง การโอนเงินเดือน ค่าแรงเข้าบัญชีเงินฝาก ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2527 ขอความร่วมมือจากหัวหน้าแผนกทุกแผนกของโรงจักรกระบี่ให้โอนเงินเดือน ค่าแรงเข้าบัญชีเงินฝากของลูกจ้างที่ธนาคารพาณิชย์และธนาคารออมสิน สาขากระบี่ และจะดำเนินการดังกล่าวตั้งแต่การรับเงินเดือน ค่าแรงประจำเดือนมกราคม 2528 เป็นต้นไป นายมานิตย์ ฤดูดี ได้ยินยอมตามบันทึกของโจทก์ฉบับนี้โดยปริยายและได้ไปรับเงินเดือนโดยวิธีการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากที่ธนาคารออมสิน สาขากระบี่ตลอดมา ศาลฎีกาเห็นว่าที่โจทก์จ่ายค่าจ้างให้แก่นายมานิตย์ตามวิธีการดังกล่าวนั้น เมื่อโจทก์ได้โอนเงินค่าจ้างเข้าบัญชีของนายมานิตย์ที่ธนาคารออมสิน สาขากระบี่ในเดือนใดแล้ว โจทก์ก็หมดหน้าที่ในการจ่ายเงินค่าจ้างในเดือนนั้น และเป็นการจ่ายโดยชอบแล้ว นายมานิตย์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาเงินเดือนหรือค่าจ้างจากโจทก์อีกได้ นายมานิตย์มิได้กระทำการใดแทนโจทก์ กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องโจทก์เชิดนายมานิตย์เป็นตัวแทนดังข้ออุทธรณ์ของจำเลยเมื่อนายมานิตย์คงมีสิทธิเรียกร้องต่อธนาคารออมสิน สาขากระบี่ ที่จะใช้สิทธิเบิกถอนออกมาใช้จ่ายนายมานิตย์จะใช้สิทธินี้เมื่อใดก็เป็นเรื่องส่วนตัวซึ่งไม่เกี่ยวกับโจทก์และการใช้สิทธิเรียกร้องนี้ก็มิใช่เป็นเรื่องการปฏิบัติงานให้กับโจทก์ โจทก์มิได้มีคำสั่งให้นายมานิตย์ไปเบิกถอนเงินรายนี้ การที่ผู้บังคับบัญชาอนุญาตให้นายมานิตย์ได้เบิกถอนเงินดังกล่าวก็เป็นเพียงการอนุญาตตามระเบียบซึ่งเป็นเรื่องที่มิให้ถูกกล่าวหาว่าได้มีการละทิ้งหน้าที่เท่านั้น ดังนั้น การประสบอันตรายถึงแก่ความตายของนายมานิตย์จึงมิใช่เป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่โจทก์ผู้เป็นนายจ้าง อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share