คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3739/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ถูกอัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 3(อัยการจังหวัดมหาสารคาม) ฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลมณฑลทหารบกที่ 3(ศาลจังหวัดมหาสารคาม)ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายและบาดเจ็บ และไม่หยุดช่วยเหลือ หรือแจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงาน ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก ฯ มาตรา 160 วรรคแรก ส่วนข้อหาขับรถโดยประมาทยกฟ้องคดีถึงที่สุด ดังนั้นปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บาดเจ็บในคดีอาญาหรือไม่ จึงเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาของศาลมณฑลทหารบกที่ 3(ศาลจังหวัดมหาสารคาม) ซึ่งโจทก์ที่ 2 เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(8) โดยอัยการได้ฟ้องแทนโจทก์ที่ 2 แม้โจทก์ที่ 2 จะมิได้เข้าเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว แต่โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ก็ต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีอาญานั้น ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารพ.ศ. 2498 มาตรา 54และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46เมื่อคดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2และไม่มีความรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์ที่ 2อ้างว่าเป็นนายจ้างจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ด้วยส่วนโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของรถคันเกิดเหตุนั้น ในคดีอาญามิใช่เป็นผู้บาดเจ็บจากการที่รถชนกัน และมิใช่อยู่ในฐานะผู้เสียหายโดยการจัดการแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4),5(2) และมิใช่เป็นคู่ความเดียวกัน ผลของคำพิพากษาคดีอาญาจึงไม่ผูกพันโจทก์ที่ 1ในคดีแพ่งต้องฟังข้อเท็จจริงใหม่.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของรถคันเกิดเหตุโจทก์ที่ 2 เป็นผู้โดยสารในรถดังกล่าว วันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทล้ำเข้ามาในเส้นทางเดินรถของโจทก์ที่ 1เป็นเหตุให้ชนกับรถคันของโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายผู้ขับถึงแก่ความตาย และโจทก์ที่ 2 ซึ่งโดยสารมาได้รับบาดเจ็บ รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายใช้การไม่ได้ ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่าเหตุเกิดจากความประมาทของผู้ขับรถคันของโจทก์ที่ 1 ซึ่งขับในทางการที่จ้างของโจทก์ที่ 1 เจ้าของรถ จำเลยทั้งสองจึงขอให้ศาลบังคับโจทก์ที่ 1 ในฐานะนายจ้างให้ร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยทั้งสอง
โจทก์ที่ 1 ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เหตุเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 หลบหนีไม่แจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานและไม่ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสอง ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ถูกอัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 3(อัยการจังหวัดมหาสารคาม) ฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลมณฑลทหารบกที่ 3(ศาลจังหวัดมหาสารคาม) ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายและบาดเจ็บและไม่หยุดช่วยเหลือหรือแจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงาน ศาลมณฑลทหารบกที่ 3 (ศาลจังหวัดมหาสารคาม) วินิจฉัยว่า กรณีที่เป็นที่น่าสงสัยอยู่หลายประการว่าจำเลยเป็นฝ่ายขับรถล้ำเข้าไปในเส้นทางวิ่งของรถยนต์ซึ่งมีผู้เสียหายเป็นผู้ขับและชนกันหรือไม่ สมควรยกประโยชน์ให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรค 2 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 วรรคแรกให้จำคุก 1 เดือน ปรับ 1,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี คดีถึงที่สุดปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 ผู้บาดเจ็บหรือไม่ เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาของศาลมณฑลทหารบกที่ 3(ศาลจังหวัดมหาสารคาม) ซึ่งโจทก์ที่ 2 เป็นผู้เสียหาย ตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) โดยอัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 1 แทนโจทก์ที่ 2 ศาลฎีกาเห็นว่าแม้โจทก์ที่ 2 จะมิได้เข้ามาเป็นคู่ความ โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ก็ต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีอาญานั้น ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 54 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 276/2520 ระหว่าง นางอนงค์ จันทร์สฤษดิ์ กับพวกโจทก์ นายประเสริฐ อภิรมยานนท์ กับพวก จำเลย เมื่อคดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 ไม่มีความรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์ที่ 2 อ้างว่าเป็นนายจ้างจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ด้วย
ส่วนโจทก์ที่ 1 นั้น ปรากฏว่าในคดีอาญามิใช่เป็นผู้บาดเจ็บจากการที่รถชนกัน และมิใช่อยู่ในฐานะผู้เสียหายโดยการจัดการแทน ตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4), 5(2)ผลของคำพิพากษาคดีอาญาจึงไม่ผูกพันโจทก์ที่ 1 เพราะโจทก์ที่1 มิใช่เป็นคู่ความเดียวกัน ในคดีแพ่งต้องฟังข้อเท็จจริงใหม่เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 1562/2519 ระหว่างองค์การโทรศัพท์ โจทก์นายหวิด มากะเรือน กับพวก จำเลย ซึ่งพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยฟังได้มั่นคงว่ารถคันเกิดเหตุของโจทก์ที่ 1 ได้แล่นล้ำเข้ามาในเส้นทางรถของจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ และเป็นฝ่ายแล่นชนรถของจำเลยที่ 2 จนได้รับความเสียหาย ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าเหตุเกิดจากความประมาทของผู้ขับขี่รถของจำเลยที่ 2 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ให้โจทก์ที่ 1 ใช้ค่าเสียหายจำนวน 53,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 2 คำขออื่นตามฟ้องแย้งนอกจากนี้ให้ยก ให้โจทก์ที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างโจทก์ที่ 2 และจำเลยให้เป็นพับสำหรับค่าขึ้นศาลให้ชำระเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่จำเลยที่ 2ชนะคดี.

Share