คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2053/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 นำตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่มาเปลี่ยนกับตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับแรกที่จำเลยที่ 1 ออกให้ไว้แก่โจทก์นั้นไม่ใช่การชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับแรก หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับแรกยังไม่ระงับเพราะยังไม่มีการชำระเงินเพียงแต่เปลี่ยนไปผูกพันกันตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่เท่านั้น จำเลยที่ 2 เข้าค้ำประกันการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 1 ออกไว้ให้แก่โจทก์ในวงเงินไม่เกิน 1,000,000 บาทโดยไม่ระบุว่าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใดและไม่ได้ระบุระยะเวลาไว้ และยังตกลงยินยอมให้หนังสือสัญญาค้ำประกันมีผลใช้บังคับได้ตลอดไป จนกว่าธนาคารจะบอกเลิกเพิกถอนการอำนวยสินเชื่อ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เจตนาค้ำประกันหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินโดยไม่จำกัดจำนวนฉบับและไม่จำกัดระยะเวลาตลอดไปภายในวงเงินไม่เกิน 1,000,000 บาท จำเลยที่ 2 จึงต้องผูกพันในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับสุดท้ายที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2525 จำเลยที่ 1ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารโจทก์ สาขาอุดรธานี ครั้นถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2528 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 16.5 ต่อปี เป็นเงิน 5,843,744.91 บาท และเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2526 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจำนำสินค้าประเภทมันเส้นและมันเม็ด เพื่อประกันการชำระหนี้ประเภทตั๋วสัญญาใช้เงินในวงเงิน 1,000,000 บาท ไว้แก่โจทก์และในวันดังกล่าวจำเลยที่ 2ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในการที่โจทก์ให้สินเชื่อแก่จำเลยที่ 1 โดยทำเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์ เมื่อวันที่20 สิงหาคม 2527 จำเลยที่ 1 ได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่อด.676/2527 สัญญาว่าจะใช้เงิน 1,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ในวันที่ 23 ตุลาคม 2527 มาแลกเงินสดไปจากโจทก์ และสัญญาว่าหากผิดนัดยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 17.5 ต่อปี เมื่อถึงวันที่ 23ตุลาคม 2527 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินให้โจทก์ตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2528 ในอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี เป็นต้นเงินและดอกเบี้ย 1,118,438.35 บาทซึ่งจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันในหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินจะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนเงินเดียวกันนั้น1,118,438.35 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 5,843,744.91 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 1,118,438.35 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,000,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจริงตามฟ้อง แต่จำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนแล้วแต่โจทก์ไม่ได้ตัดทอนบัญชี ทำให้ยอดเงินตามฟ้องไม่ถูกต้องจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้ทำสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินไว้กับโจทก์เป็นเงิน 1,000,000 บาท โดยจำนำมันเส้นและมันเม็ดเป็นประกันและมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันด้วย กำหนดชำระเงินคืนภายใน45 วัน เมื่อสัญญาดังกล่าวครบกำหนดแล้วโจทก์ขยายเวลาให้จำเลยที่ 1 อีก 5 ครั้ง โดยเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินถึง 5 ฉบับ ฉบับสุดท้ายลงวันที่ 20 สิงหาคม 2527 นอกจากนี้สัญญาจำนำสินค้าลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2526 โจทก์เพิ่มเติมข้อความขึ้นเองจากข้อความว่ามันเส้นและมันเม็ดเป็นมันเส้นและมันเม็ดและสินค้าพืชไร่ประเภทข้าวทุกชนิด สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆียะ ฉะนั้นการขยายเวลาตามตั๋วสัญญาใช้เงินก็ดี การเพิ่มเติมข้อความก็ดีโจทก์ไม่ได้แจ้งหรือรับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2จำเลยที่ 1 ไม่รับรองและจำเลยที่ 2 ย่อมพ้นความรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2526 ประกันการที่จำเลยที่ 1 นำตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2526 มาแลกเงินสดไปจากโจทก์จำเลยที่ 2 จึงรับผิดต่อโจทก์เฉพาะตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับดังกล่าวนี้เท่านั้น และจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว โดยโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 นำตั๋วสัญญาใช้เงินมาแลกเงินสดกับโจทก์อีก 5 ครั้ง หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับแรกจึงเป็นอันระงับไป ดังนั้น จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์ 2 จำนวนคือ ให้ชำระเงินจำนวน 5,801,827.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ16.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2528จนกว่าจะชำระเสร็จและให้ชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 23 ตุลาคม2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จำนวน 1,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2527จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาจะต้องวินิจฉัยจึงมีว่า การที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 นำตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่มาเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับแรกที่จำเลยที่ 1 ออกไว้ให้แก่โจทก์ถือเป็นการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับแรกแล้วหรือไม่ และสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 เป็นการค้ำประกันเฉพาะตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับแรกหรือค้ำประกันตั๋วสัญญาใช้เงินทุกฉบับรวมทั้งฉบับสุดท้ายด้วย เห็นว่า การที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 นำตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่มาเปลี่ยนกับตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับแรกที่จำเลยที่ 1 ออกให้ไว้แก่โจทก์นั้น มิใช่เป็นการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับแรกหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับแรกยังไม่ระงับเพราะยังไม่มีการชำระเงิน เพียงแต่เปลี่ยนไปผูกพันกันตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่เท่านั้น และตามสัญญาค้ำประกันทั้งสองฉบับมีข้อความระบุไว้ในข้อ 1 ว่า จำเลยที่ 2 ตกลงเข้าค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1ที่จะต้องชำระแก่โจทก์ตามจำนวนเงินในตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 1 ได้ออกไว้ให้แก่โจทก์และยังคงค้างชำระอยู่ภายในวงเงินค้ำประกันไม่เกิน 1,000,000 บาท รวมทั้งดอกเบี้ยค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำเลยที่ 1 ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง ข้อความในสัญญาดังกล่าวมาแล้วนี้มิได้ระบุว่าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใดและมิได้ระบุระยะเวลาไว้แต่เป็นการระบุวงเงินที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 2 ที่จะค้ำประกันตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 1 ออกให้แก่โจทก์โดยไม่จำกัดจำนวนฉบับและไม่จำกัดระยะเวลา แต่จำกัดวงเงินไม่เกิน 1,000,000 บาท ตามที่ระบุไว้ในสัญญาเท่านั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตามเอกสารหมาย จ.3 ข้อความในสัญญาข้อ 7 ระบุว่า ผู้ค้ำประกันตกลงยินยอมให้หนังสือสัญญาค้ำประกันฉบับนี้มีผลใช้บังคับได้ตลอดไปจนกว่าธนาคารจะบอกเลิกเพิกถอนการอำนวยสินเชื่อตามที่กล่าวในข้อ 1 แล้ว ซึ่งแสดงว่าจำเลยที่ 2 ได้แสดงเจตนาจะค้ำประกันการออกตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ทุกฉบับตลอดไปภายในวงเงินไม่เกิน1,000,000 บาท ดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องผูกพันในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับสุดท้ายที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share