แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ไม้ของกลางของ ท. ซึ่งเป็นไม้ที่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายถูกส่งไปที่โรงงานของจำเลยซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปไม้เพื่อทำเป็น เครื่องเรือนสำเร็จรูปตามคำสั่งของ ท. จำเลยทำไม้แล้วส่งต่อไปยังบริษัท ม. จำกัด เพื่อบรรจุหีบห่อเมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าไม้ของกลางยังเป็นไม้แปรรูปไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ จำเลยส่งไม้ออกไปที่อื่นจึงเป็นการจำหน่ายหรือโอนออกไป เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดฉบับที่ 6 (พ.ศ.2520) ข้อ 15 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ว่าด้วยการควบคุมการแปรรูปไม้ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 58, 73 ทวิ และความผิดดังกล่าวโจทก์ไม่ต้องบรรยายฟ้องว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ และเขตควบคุมสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้ามตามมาตรา 47 และ 53 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานแปรรูปไม้เพื่อประดิษฐกรรมด้วยเครื่องจักรให้ประกอบสิ่งประดิษฐสำเร็จรูปคือทาเครื่องเรือนใช้ชื่อว่า ‘สีน้ำเงินการช่าง’ เมื่อระหว่างวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๒๓ ถึงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ วันเวลาใดที่ไม่ปรากฏชัด จำเลยได้จำหน่ายและโอนไม้สักส่วนประกอบบ้านจำนวน ๔๑๔ ชิ้น บานประตูไม้สักจำนวน ๒ ชิ้น อันเป็นไม้สักแปรรูปจากโรงงานไปยังบริษัทบุญมามูฟอิงแอนด์สโตเรจ จำกัด เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๒๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ว่าด้วยการควบคุมการแปรรูปไม้ ลงวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๒๐ ข้อ ๑๕, ๒๐ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๕๘, ๗๓ ทวิ ที่แก้ไขแล้ว
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช ๒๔๘๔ ฯลฯ ที่แก้ไขแล้ว ให้จำคุก ๖ เดือน และปรับ ๑๐,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมไม้สักแปรรูปของกลางเป็นของนางทัศนีย์ เพชรแก้วกุล ซื้อจากห้างหุ้นส่วนจำกัดชลหลี เป็นไม้ที่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมาย ห้างหุ้นส่วนจำกัดชลหลีออกหนังสือกำกับไม้ส่งไม้ไปอบที่บริษัทอุตสาหกรรมอบไม้อิมเปคโก จำกัด และบริษัทอุตสาหกรรมอบไม้อิมเปคโก จำกัด ออกหนังสือกำกับไม้ส่งไม้มาที่โรงงานของจำเลยตามคำสั่งของนางทัศนีย์เพื่อให้ทำตามแบบซึ่งอ้างว่าเป็นการทำหน้าต่าง บานเกล็ด บานประตู และคิ้ว ที่สามารถถอดเป็นชิ้นส่วน เป็นเครื่องเรือนสำเร็จรูปซึ่งจะนำไปประกอบที่ประเทศญี่ปุ่น จำเลยทำไม้แล้วส่งไปยังบริษัทบุญมามูฟอิงแอนด์สโตเรจ จำกัด เพื่อทำการบรรจุหีบห่อโดยออกหนังสือกำกับไม้ไปว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ ต่อมาในวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๒๓ ผู้เชี่ยวชาญศาลในทางพิสูจน์ไม้ได้ไปตรวจพิสูจน์แล้วปรากฏว่าเป็นไม้แปรรูปไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์มีปัญหาว่าการที่จำเลยส่งไม้ของกลางไปที่บริษัทบุญมามูฟอิงแอนด์สโตเรจ จำกัด จำเลยจะมีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๒๐) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ว่าด้วยการควบคุมการแปรรูปไม้ ข้อ ๑๕ อันจะเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าข้อกำหนดฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๒๐) ข้อ ๑๕ ผู้รับอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้เพื่อประดิษฐกรรมด้วยเครื่องจักรจะจำหน่ายหรือโอนหรือนำออกจากโรงงานได้เฉพาะสิ่งที่ประกอบเป็นวัตถุประดิษฐ์หรือสิ่งประดิษฐ์สำเร็จรูปตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตและหลักฐานในการอนุญาตเท่านั้น เมื่อไม้ของกลางยังเป็นไม้แปรรูปอยู่ จำเลยส่งไม้ออกไปที่อื่นจึงเป็นการจำหน่ายหรือโอนออกไปจำเลยจึงต้องมีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดดังกล่าว
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่า ที่เกิดเหตุอยู่ในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ และเขตควบคุมสิ่งประดิษฐ์เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้าม ตามมาตรา ๔๗ และมาตรา ๕๓ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเห็นว่า ความผิดที่จะต้องบรรยายฟ้องถึงเขตควบคุมการแปรรูปไม้ และเขตควบคุมสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้ หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้าม ตามฎีกาของจำเลยนั้น จะต้องเป็นความผิดตามมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๙ หรือความผิดตามมาตรา ๕๓ ตรี แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๒๑แล้วแต่กรณีแต่คดีนี้เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดอันเป็นความผิดตามมาตรา ๕๘, ๗๓ ทวิ โจทก์จึงไม่ต้องบรรยายฟ้องตามที่จำเลยฎีกามาแต่อย่างใด
พิพากษายืน.