แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยประกอบกิจการผลิตเหล็กโดยใช้เครื่องจักรในการผลิตและมีพนักงานเป็นผู้ควบคุมดูแลเครื่องจักร เป็นกิจการที่อาจเกิดอันตรายแก่พนักงานหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยได้ง่าย ที่จำเลยออกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานห้ามเสพสุราในขณะปฏิบัติงานโดยถือเป็นความผิดร้ายแรง ก็เพื่อป้องกันภยันตรายที่จะเกิดแก่พนักงานหรือจำเลยไว้ล่วงหน้าดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสองเสพสุรามึนเมาในขณะปฏิบัติงานย่อมเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับดังกล่าวเป็นกรณีร้ายแรงจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องรอให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยก่อน ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2529 จำเลยเลิกจ้าง โจทก์ทั้งสองโดยไม่มีความผิด ไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานตามเดิม มิฉะนั้นให้จำเลยจ่ายค่าเสียหาย ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพรอมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเนื่องจากโจทก์ทั้งสองดื่มสุราในขณะปฏิบัติงาน เป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะโจทก์ที่ 2 เคยฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานถูกจำเลยตักเตือนเป็นหนังสือมาแล้วสองครั้ง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ทั้งสองกระทำผิดต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ว่า จำเลยประกอบกิจการผลิตเหล็กโดยใช้เครื่องจักรเป็นเครื่องมือในการผลิตและมีพนักงานเป็นผู้ควบคุมดูแลเครื่องจักรอีกชั้นนหึ่ง การผลิตเหล็กของจำเลยจึงเป็นกิจการที่อาจเกิดอันตรายแก่พนักงานหรือก่อให้เกิดการเสียหายแก่จำเลยได้ง่าย ฉะนั้น การที่จำเลยออกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารท้ายคำให้การ โดยกำหนดไว้ในข้อ 17 (3)ว่า ‘เสพสุราหรือของมีนเมาในบริเวณโรงงานหรือในขณะปฏิบัติงาน ฯลฯ’ ถือเป็นความผิดร้ายแรงนั้น ก็โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะป้องกันภยันตรายซึ่งจะเกิดแก่พนักงานหรือจำเลยไว้ล่วงหน้า และการเสพสุราย่อมเข้ามูลเหตุให้เกิดความประมาทในขณะปฏิบัติงาน ข้ออุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่าได้เสพสุราซึ่งมีแอลกอฮอล์น้อยมีปริมาณเล็กน้อยไม่ทำให้มึนเมาและโจทก์ทั้งสองสามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการที่โจทก์ทั้งสองกระทำผิดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยดังกล่าว ย่อมถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (3) โดยไม่จำต้องรอให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยก่อนแต่อย่างใด จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งสองที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองชอบแล้ว
พิพากษายืน.