แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งนักการ เทศบาลตำบลจักราช มิใช่ข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งหรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ซึ่งมีกฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะให้ถือเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย เนื่องจาก ป.อ. มาตรา 147, 151, 161 เป็นบทบัญญัติที่ลงโทษแก่บุคคลผู้กระทำความผิดที่เป็นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่เท่านั้น แม้จำเลยที่ 2 จะร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดต่อบทบัญญัติดังกล่าว ก็จะลงโทษจำเลยที่ 2 อย่างเจ้าพนักงานไม่ได้ คงลงโทษจำเลยที่ 2 ได้แต่เพียงในฐานะผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 86 เท่านั้น ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 147, 151, 157, 161, 264, 265, 266, 268, 352
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 161, 266 (1), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (1), 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรากฏว่า ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้น และฐานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่เทศบาล มีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่เทศบาล จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 29 กระทง เป็นจำคุกคนละ 145 ปี เมื่อรวมทุกกระทงความผิดแล้วคงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ เห็นว่า ในการออกไปจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้สถานที่เอกชนเพื่อทำการประกอบ ปรุง สะสมอาหาร ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้สถานที่ประกอบกิจการที่อันตรายต่อสุขภาพ ตามฟ้องรายการที่ 2 ถึงที่ 30 นั้น บางครั้งจำเลยทั้งสองออกไปจัดเก็บร่วมกัน บางครั้งจำเลยที่ 2 ออกไปจัดเก็บคนเดียว จำเลยที่ 2 จะเขียนใบเสร็จรับเงินให้ผู้ชำระค่าธรรมเนียมและผู้ชำระค่าภาษีตามจำนวนเงินที่ชำระจริง ส่วนต้นขั้วใบเสร็จรับเงินนั้น จำเลยที่ 2 เขียนจำนวนเงินต่ำกว่าความเป็นจริง แล้วส่งมอบแก่ผู้เสียหายเพียงเท่ากับจำนวนเงินในใบเสร็จรับเงินฉบับต้นขั้ว จำเลยที่ 2 ได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 4 จังหวัดนครราชสีมา ว่าในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินนั้น จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดจำนวนเงินที่จะจัดเก็บในแต่ละราย และจะเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินที่จะเขียนลงในสำเนาใบเสร็จรับเงิน (ต้นขั้ว) ที่จะนำส่งคลังเทศบาลตำบลจักราช เงินส่วนต่างนั้นจำเลยที่ 1 ได้แบ่งให้จำเลยที่ 2 บ้าง พาไปเลี้ยงอาหารบ้าง เงินส่วนที่เหลือจำเลยที่ 1 จะแบ่งให้ใครเท่าใดนั้น จำเลยที่ 2 ไม่ทราบ ตามบันทึกถ้อยคำของจำเลยที่ 2 และนายสุทธิพงษ์ เจ้าหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดิน 6 ผู้ตรวจสอบสืบสวนการทุจริตของเทศบาลตำบลจักราช เบิกความเป็นพยานโจทก์รับรองข้อเท็จจริงดังกล่าว เมื่อพิเคราะห์ประกอบข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่จัดเก็บรายได้ให้ผู้เสียหายมานานตั้งแต่ผู้เสียหายยังมีฐานะเป็นสุขาภิบาล จนกระทั่งยกระดับเป็นเทศบาล ตามคำสั่งผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 ย่อมทราบอัตราค่าธรรมเนียมและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินดี ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้เบิกความตอบคำถามค้านโจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าว หากจำเลยที่ 2 เขียนใบเสร็จรับเงินฉบับต้นขั้วต่ำกว่าอัตราค่าธรรมเนียมดังเช่น ค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตให้ตั้งหรือใช้สถานที่เอกชนเป็นที่ขาย ทำ ประกอบ ปรุง สะสมอาหาร ตามข้อบังคับผู้เสียหาย มีค่าธรรมเนียมต่ำสุด 200 บาท แต่การจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวส่งต่อผู้เสียหายเพียง 100 บาท จำเลยที่ 1 ย่อมทราบถึงความไม่ถูกต้องดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 ไม่เคยโต้แย้ง ทั้งใบเสร็จรับเงินดังกล่าวต้องลงนามจำเลยที่ 2 ผู้รับเงิน และจำเลยที่ 1 สมุห์บัญชีด้วยกัน ดังนั้นฐานะตำแหน่งหน้าที่การงานของจำเลยที่ 2 โดยลำพังไม่อาจกระทำความผิดตามฟ้องได้ พฤติการณ์แห่งคดีรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 บงการให้จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องรายการที่ 2 ถึงที่ 30 ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 กระทำเอง จำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวข้อง จำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกระทำผิดทุกกระทงตามฟ้อง ฟังไม่ขึ้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในส่วนของจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อ 2 ที่ว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ (ที่ถูกศาลอุทธรณ์ภาค 3) คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ได้ลอกข้อความจากอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อ 2 คำต่อคำ จึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งศาลล่างทั้งสองลงโทษอย่างเจ้าพนักงานซึ่งกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งนักการ เทศบาลตำบลจักราช มิใช่ข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งหรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ซึ่งมีกฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะให้ถือเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย เนื่องจากบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 161 เป็นบทบัญญัติที่ลงโทษแก่บุคคลผู้กระทำความผิดที่เป็นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่เท่านั้น แม้จำเลยที่ 2 จะร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดต่อบทบัญญัติดังกล่าว ก็จะลงโทษจำเลยที่ 2 อย่างเจ้าพนักงานไม่ได้ คงลงโทษจำเลยที่ 2 ได้แต่เพียงในฐานะผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 เท่านั้น ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 161 ประกอบมาตรา 86, 266 (1), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (1), 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่เทศบาล จำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 29 กระทง เป็นจำคุก 87 ปี 116 เดือน เมื่อรวมทุกกระทงความผิดแล้ว คงจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3