คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 841/2494

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ศาลบังคับจำเลยคนหนึ่งรับโอนกรรมสิทธิที่ดินของโจทก์ตามสัญญาจะซื้อขาย และขอให้เพิกถอนสัญญาที่จำเลยอีกสองคนทำกันไว้เกี่ยวกับที่ดินแปลงนั้น เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยคนหนึ่งรับโอนที่ดินแปลงนั้นลงชื่อในโฉนดเป็นผู้ถือกรรมสิทธิต่อไปแล้ว สัญญาจำนองจะใช้บังคับแก่ที่ดินนั้นได้หรือไม่ ย่อมเป็นภาระระหว่างจำเลย โจทก์จะอุทธรณ์ฎีกาขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาจำนองอีกไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินให้จำเลยที่ ๓ ราคา ๑๒๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๓ ได้ชำระราคาแล้ว ๑๐๐๐๐ บาท โจทก์ทำใบมอบฉันทะให้จำเลยที่ ๓ โอนที่ดินเอาเองแต่จำเลยที่ ๓ กลับไปสมคบกับจำเลยที่ ๑ ทำใบมอบฉันทะปลอม แล้วจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาจำนองที่ดินของโจทก์กับจำเลยที่ ๒ เป็นเงิน ๑๘๐,๐๐๐ บาท จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยเพิกถอนสัญญาจำนองไม่ให้ผูกพันโจทก์ และบังคับให้จำเลยที่ ๓ รับซื้อที่ดินรายนี้ และชำระค่าที่ดินที่ค้างอีก ๒๐๐๐ บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๓ รับโอนที่พิพาทลงชื่อในโฉนดเป็นผู้ถือกรรมสิทธิต่อไป ส่วนคำขอให้เพิกถอนการจำนอง ให้ยกเสีย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาเฉพาะข้อขอให้เพิกถอนสัญญาจำนอง
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อศาลได้พิพากษาให้จำเลยที่ ๓ รับโอนที่พิพาทลงชื่อในโฉนดเป็นผู้ถือกรรมสิทธิต่อไปแล้ว โจทก์ก็ไม่มีส่วนได้เสียอะไรในที่ดินนั้นต่อไปอีก ทั้งในสัญญาจำนองก็ไม่มีข้อตกลงว่าทรัพย์สินอื่นของโจทก์จะต้องรับผิดในหนี้รายนั้นด้วย ฉะนั้นความรับผิดในการบังคับจำนองรายพิพาทจึงยังคงมีอยู่แต่เฉพาะในกรรมสิทธิที่ดินโฉนดที่ ๓๒๗๕ (ที่พิพาท) เท่านั้นตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา ๗๓๓,๒๑๔ และในกรณีเช่นนี้จำเลยที่ ๓ ก็มิได้อิดเอื้อนในการรับโอนที่ดินโดยไม่ปลอดการจำนอง การที่จะว่ากล่าวเอาความว่าสัญญาจำนองใช้บังคับแก่ทรัพย์สินที่จำนองเพียงใด จึงตกเป็นภาระระหว่างจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ โจทก์จึงไม่มีข้ออ้างเป็นเหตุแห่งส่วนได้เสียที่จะอุทธรณ์ฎีกาขึ้นมาได้แต่อย่างไร
จึงพิพากษาให้ยกฎีกาโจทก์โดยพิพากษายืน

Share