คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1223/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 1บัญญัติไว้ว่าให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายและขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น (3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ปรากฏว่าโจทก์เกิดในประเทศไทยและเป็นบุตรของนาง ต.คนสัญชาติไทยกับนายค. คนสัญชาติญวนบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย เช่นนี้โจทก์ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) และเป็นผู้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวที่จะถูกถอนสัญชาติไทยเนื่องจากบิดาโจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวนั้นเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคำว่า ‘บิดาเป็นคนต่างด้าว’ ตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวหมายความถึงบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นหาหมายความรวมถึงบิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยไม่
การที่จำเลยถอนชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนบ้านของโจทก์โดยอ้างว่าเป็นคนสัญชาติญวน ย่อมทำให้โจทก์เสียสิทธิต่าง ๆในฐานะเป็นคนสัญชาติไทย เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ตามกฎหมายแพ่ง โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
อายุความตามที่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 บัญญัติไว้หมายถึงการฟ้องเรียกเอาค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดเท่านั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นบุคคลมีสัญชาติไทย และให้จำเลยเพิ่มชื่อโจทก์ลงในทะเบียนบ้านของโจทก์เป็นการฟ้องขอให้ระงับการกระทำละเมิดที่ยังมีอยู่ มิใช่เป็นการเรียกเอาค่าเสียหาย จึงหาอยู่ในบังคับต้องฟ้องคดีภายในกำหนด 1 ปี ตามบทมาตราดังกล่าวไม่.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้เยาว์เป็นคนสัญชาติไทย เป็นบุตรของนางตุ้มทอง ลุนพรม คนสัญชาติไทย โจทก์เกิดในราชอาณาจักรไทยนายอูหรือชินหรือคิน แซ่เหงียน เป็นคนต่างด้าวไม่มีบัตรประจำตัวคนต่างด้าว และเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของโจทก์โจทก์มีบ้านอยู่ในเขตเทศบาลเมืองอุบลราชธานี จำเลยที่ 1เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 2 เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 3 เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีและจำเลยที่ 4 เป็นนายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองอุบลราชธานีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2510 จำเลยที่ 2 อ้างว่าบุตรคนญวนที่ลี้ภัยสงครามเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย ไม่ใช่คนสัญชาติไทย ให้อำนาจจำเลยที่ 3 สั่งจำเลยที่ 4 ตรวจสอบรายชื่อบุตรคนญวนอพยพที่มีชื่อในทะเบียนบ้านในเขตเทศบาลเมืองอุบลราชธานี เพื่อเสนอจำเลยที่ 3 ถอนชื่อคนญวนอพยพออกจากทะเบียนบ้าน ต่อมาจำเลยที่ 4 อ้างว่าโจทก์เป็นบุตรคนญวนอพยพไม่ใช่คนสัญชาติไทยจึงขออนุมัติจากจำเลยที่ 3 ถอนชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนบ้านของโจทก์จำเลยที่ 2 อนุมัติ จำเลยที่ 4จึงถอนชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนบ้านของโจทก์ ทำให้โจทก์เสื่อมเสียสิทธิในฐานะเป็นคนไทย การกระทำของจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดด้วย โจทก์บอกให้จำเลยทั้งสี่เพิ่มชื่อโจทก์ในทะเบียนบ้านของโจทก์แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันเพิ่มชื่อโจทก์ลงในทะเบียนบ้านของโจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยทุกคนเป็นข้าราชการต้องปฏิบัติตามระเบียบและนโยบายของรัฐบาล จำเลยที่ 2 ออกคำสั่งเกี่ยวกับคนญวนอพยพ ซึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเพราะการสำรวจทะเบียนราษฎรทั่วราชอาณาจักรปี พ.ศ. 2499 พบว่า คนญวนอพยพและบุตรคนญวนอพยพที่เกิดในประเทศไทยมีใบแบบ ท.ร.1 แล้วคัดลงในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) จึงเป็นโอกาสให้คนญวนใช้สิทธิอ้างว่าเป็นคนไทย ร้องขอคัดสำเนาทะเบียนบ้านไปยื่นขอบัตรประจำตัวประชาชนทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ และเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ จึงให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสำรวจและปฏิบัติให้ถูกต้อง เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย การปฏิบัติของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้รักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ข้อ 4 และพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 จำเลยที่ 1 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโจทก์หรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์เป็นบุคคลมีสัญชาติไทย ให้จำเลยเพิ่มชื่อโจทก์ลงในทะเบียนบ้าน
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันฟังได้ว่านางตุ้มทอง ลุนพรมกับนายอูหรือชินหรือคินแซ่เหงียน คนญวนอพยพเป็นสามีภริยากันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสคดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยเป็นข้อแรกว่านางตุ้มทองเป็นคนสัญชาติไทยหรือไม่ และโจทก์เป็นบุตรของนางตุ้มทองที่เกิดกับนายอูหรือชินหรือคิน หรือไม่ในปัญหาดังกล่าวนางตุ้มทองว่าตนเป็นบุตรนายแก้ว นางเฟือยคนสัญชาติไทยเกิดที่ตำบลโคกจาน อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งตรงกับหลักฐานทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.2 นอกจากนี้นางตุ้มทองยังมีบัตรประจำตัวประชาชนเอกสารหมาย จ.1 มาแสดงซึ่งเป็นเอกสารราชการเห็นว่าหลักฐานเพียงเท่าที่ยกขึ้นกล่าวนี้เพียงพอที่จะฟังได้ว่านางตุ้มทองเป็นคนสัญชาติไทย นางตุ้มทองและนายอูหรือชินหรือคินต่างเบิกความว่าโจทก์เป็นบุตรของตนซึ่งเป็นสามีภริยากัน เกิดที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี นางตุ้มทองว่าได้แจ้งการเกิดโจทก์ไว้ต่อนายทะเบียนท้องถิ่น สำนักงานเทศบาลเมืองอุบลราชธานี นายทะเบียนท้องถิ่นได้เพิ่มชื่อโจทก์ลงในทะเบียนบ้านเลขที่ 72/3ถนนสุริยาตร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ของนางตุ้มทอง ซึ่งนายไมตรี เขมะวงศ์ผู้ช่วยนายทะเบียนท้องถิ่น สำนักงานเทศบาลเมืองอุบลราชธานีพยานจำเลยก็ว่าที่ปรากฏชื่อโจทก์ในทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.2โจทก์เป็นบุตรนางตุ้มทองและนายอูหรือชินหรือคิน เข้าใจว่ามีสูติบัตรเพราะในเอกสารฉบับนี้มีหมายเหตุไว้และในทะเบียนบ้านญวนอพยพอันดับที่ 14 เอกสารหมาย ล.1 ที่จำเลยอ้างเป็นพยานก็ระบุว่าโจทก์เป็นบุตรนายคิน นางตุ้มทอง สัญชาติไทยเป็นข้อสนับสนุนให้เชื่อได้ว่าโจทก์เป็นบุตรของนางตุ้มทองที่เกิดจากนายอูหรือชินหรือคินในประเทศไทย โจทก์จึงเป็นบุคคลสัญชาติไทยโดยการเกิดตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508มาตรา 7 (3) โดยมีบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีมีปัญหาเป็นข้อต่อไปว่าโจทก์ถูกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่337 หรือไม่ และโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่หรือไม่ ในปัญหาดังกล่าว เห็นว่าคนที่จะถูกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว ข้อ 1 บัญญัติไว้ว่าให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายและขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น (3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเห็นว่า โจทก์ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามบทกฎหมายดังยกขึ้นกล่าวอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ถูกถอนสัญชาติไทยเพราะบิดาโจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวนั้นเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำว่าบิดาเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติดังยกขึ้นกล่าวนั้นหมายความถึงบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าหากจะหมายความถึงบิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยดังจำเลยฎีกา ตัวบทกฎหมายต้องเขียนให้ชัดแจ้งเช่นนั้น เช่นข้อความต่อไปในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ข้อ 1 ดังยกขึ้นกล่าวข้างต้น ในกรณีที่บุคคลที่จะถูกถอนสัญชาติอีกกรณีหนึ่งได้บัญญัติว่าหรือมีมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือในกรณีบุคคลที่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดนอกราชอาณาจักรไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 (2) บัญญัติว่าต้องมีมารดาเป็นคนสัญชาติไทยและไม่ปรากฏบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือบิดาไม่มีสัญชาติ จะเห็นว่าตามตัวบทกฎหมายดังยกขึ้นเป็นตัวอย่างนี้ถ้ากฎหมายต้องการให้หมายความถึงบิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วจะเขียนไว้อย่างชัดเจนดังนั้นเมื่อกฎหมายกล่าวถึงบิดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมหมายความถึงบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย และการที่โจทก์เป็นบุคคลที่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะถูกถอนสัญชาติได้ดังวินิจฉัยแล้ว ซึ่งจำเลยคนอื่น ๆ ปฏิบัติหน้าที่ราชการภายใต้การบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ร่วมกันถอนชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนบ้านของโจทก์โดยอ้างว่าเป็นคนสัญชาิญวน ย่อมทำให้โจทก์เสียสิทธิต่าง ๆในฐานะคนสัญชาติไทย เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายแพ่ง โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ส่วนที่จำเลยฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า โจทก์ไม่ฟ้องคดีภายในกำหนด 1 ปีขาดอายุความฟ้องร้องไปแล้วนั้น เห็นว่า อายุความตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 บัญญัติไว้ หมายถึงการฟ้องเรียกเอาค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดเท่านั้น ส่วนในเรื่องนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นบุคคลมีสัญชาติไทยและให้จำเลยเพิ่มชื่อโจทก์ลงในทะเบียนบ้านของโจทก์ เป็นการฟ้องขอให้ระงับการกระทำละเมิดที่ยังมีอยู่ มิใช่เป็นการเรียกเอาค่าเสียหาย คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ฎีกาจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ’
พิพากษายืน.

Share