แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิมกองทัพอากาศเป็นผู้ดูแลเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ในสนามบินดอนเมือง ต่อมารัฐบาลตกลงจะแยกกิจการบินพลเรือนออกจากกองทัพอากาศ ให้กรมการขนส่งจัดเก็บรายได้ต่างๆ เป็นของกรมการขนส่ง แต่ในที่สุดยังแยกไม่ได้ เพราะไม่มีงบประมาณและคนดำเนินการ ในระหว่างที่ยังแยกไม่ได้นี้คณะกรรมการลงมติให้กองทัพอากาศมีอำนาจหน้าที่เก็บค่าธรรมเนียมเครื่องบินขึ้นลงตลอดจนพักแรม ส่วนรายได้ รายจ่ายให้เป็นของกรมการขนส่ง กองทัพอากาศ โดยกรมการบินพลเรือนเพียงเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลจัดเก็บและนำส่งกระทรวงการคลังให้ เมื่อมีการทุจริตเกี่ยวกับเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวแล้ว ซึ่งมีบุคคล จะต้องรับผิดชอบทางแพ่งในฐานละเมิด กรมการขนส่งซึ่งเป็น เจ้าของรายได้ย่อมมีอำนาจฟ้องได้
กรรมการตรวจเงินแผ่นดินรายงานไปยังกระทรวงกลาโหมว่ามีการทุจริตยักยอกเงินค่าธรรมเนียมสนามบินในกรมการบินพลเรือนกองทัพอากาศจึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางอาญาโดยจำเลยที่ 1 ถูกสอบสวนร่วมกับพันจ่าอากาศและนายทหารอีกสองนาย คณะกรรมการสอบสวนแล้วเสนอรายงานว่า พันจ่าอากาศและนายทหารสองนายนั้นเป็นผู้รับผิดทางอาญา เจ้ากรมสารบรรณทหารอากาศจึงมีบันทึกเสนอผู้บัญชาการทหารอากาศว่า การสอบสวนไม่มีหลักฐานยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการทุจริตเป็นแต่เพียงบกพร่องต่อหน้าที่ อันเป็นเหตุให้เกิดการทุจริตซึ่งจะได้พิจารณาและดำเนินการในเรื่องความรับผิดทางแพ่งต่อไป เห็นสมควรสั่งถอนประกันเพื่อคืนหลักประกันให้จำเลยที่ 1 รองผู้บัญชาการทหารอากาศรับคำสั่งผู้บัญชาการทหารอากาศเซ็นสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1ถอนประกันได้ ต่อมากองทัพอากาศสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาหาผู้ต้องรับผิดทางแพ่ง คณะกรรมการทำรายงานเสนอว่าจำเลยคนใดรวมทั้งจำเลยที่ 1 ด้วยจะต้องรับผิดทางแพ่งเป็นเงินเท่าใด และผู้บัญชาการทหารอากาศลงชื่อรับทราบ ดังนี้ ถือว่ากองทัพอากาศรู้ตัวผู้ทำละเมิดซึ่งจะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ผู้บัญชาการทหารอากาศรู้ตัวผู้ทำละเมิดซึ่งจะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ผู้บัญชาการทหารอากาศลงชื่อรับทราบ จะถือว่ากองทัพอากาศรู้ว่าจำเลยที่ 1เป็นผู้ทำละเมิดตั้งแต่วันที่รองผู้บัญชาการทหารอากาศเซ็นสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ถอนประกันหาได้ไม่
จำเลยเป็นนายทหารสัญญาบัตรประจำการประจำกรมการบินพลเรือนซึ่งได้รับแต่งตั้งจากกรมการบินพลเรือนให้เป็นกรรมการควบคุมดูแลเงินรายได้ผลประโยชน์ มีหน้าที่ควบคุมดูแลเงินค่าธรรมเนียม ขึ้นลงของเครื่องบินกับค่าเช่าอันเป็นเงินรายได้ของโจทก์ แต่จำเลยปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของกองทัพอากาศทำให้เกิดการทุจริตโดยนายทหารชั้นประทวนยักยอกเอาเงินดังกล่าวไปซึ่งถ้าหากได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับแล้วการทุจริตรายนี้คงไม่เกิดขึ้นได้ ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยต้องรับผิดเพื่อละเมิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นนิติบุคคล มีอำนาจและหน้าที่ความรับผิดชอบร่วมกันในการดำเนินกิจการบินพลเรือน ท่าอากาศยานกรุงเทพ สนามบินดอนเมือง โดยมีข้อตกลงและตามพระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดินให้กิจการท่าอากาศยานดังกล่าวอยู่ในความควบคุมดูแลดำเนินกิจการของโจทก์ที่ ๑ ส่วนค่าธรรมเนียมสนามบินและค่าเช่าท่าอากาศยานให้ถือเป็นรายได้อยู่ในงบประมาณรายได้ของโจทก์ที่ ๒และรายจ่ายก็ให้ถือเป็นรายจ่ายตั้งอยู่ในงบประมาณรายจ่ายของโจทก์ที่ ๒โจทก์ที่ ๑ ได้มอบหมายกิจการงานท่าอากาศยานดังกล่าวให้กรมการบินพลเรือนซึ่งเป็นหน่วยงานขึ้นอยู่กับโจทก์ที่ ๑ รับไปดำเนินการในนามโจทก์ที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ รับราชการเป็นนายทหารสัญญาบัตรประจำการประจำกรมการบินพลเรือน ซึ่งกรมแต่งตั้งให้เป็นกรรมการควบคุมดูแลรายได้ผลประโยชน์มีอำนาจหน้าที่ดูและควบคุมเก็บเงินรายได้ค่าธรรมเนียมสนามบินและค่าเช่าท่าอากาศยาน จำเลยทั้งสามกับนาวาอากาศโทชู กรรมการอีกคนหนึ่งซึ่งภายหลังถึงแก่กรรมได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำให้ผิดกฎหมายและข้อบังคับเป็นเหตุให้พันจ่าอากาศเอกพิชัยสมคบกับเรืออากาศโทพงษ์ยักยอกเช็คและเงินสดที่บริษัทการบินต่าง ๆ ได้ชำระเป็นค่าธรรมเนียมสนามบินและค่าเช่าให้แก่กรมการบินพลเรือนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นเงิน ๖๒๗,๐๖๕ บาท และอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ ๓ เป็นเงิน ๒๗๓,๒๗๑ บาท ส่วนจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๘ ได้รับเช็คจากพันจ่าอากาศเอกพิชัยและเรืออากาศโทพงษ์ที่ยักยอกดังกล่าวไปเข้าบัญชีเงินฝากของตนเพื่อเรียกเก็บเงินให้และธนาคารจำเลยที่ ๙ และเจ้าหน้าที่ธนาคารได้ทำการไม่สุจริตและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงโดยรับเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีและจ่ายเงินสดออกไป ทำให้โจทก์เสียหายขอให้บังคับจำเลยร่วมกันใช้เงิน ๖๒๗,๐๖๕ บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทุกคนต่อสู้ปฏิเสธความรับผิดและว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และคดีโจทก์ขาดอายุความ
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ ๑ ถึงแก่ความตาย และนางสุรีย์ภริยาเข้าเป็นคู่ความแทน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ โดยผู้รับมรดกความกับจำเลยที่ ๒ร่วมกันใช้เงิน ๖๒๗,๐๖๕ บาท โดยให้จำเลยที่ ๓ ร่วมรับผิดเฉพาะส่วน๒๗๓,๒๗๑ บาทและให้จำเลยทั้งสามใช้ดอกเบี้ยจากจำนวนเงินที่จะต้องรับผิดนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยนอกนั้นให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๙ รับผิดตามฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ที่ ๒ ไม่มีอำนาจฟ้องและคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ ๑ ขาดอายุความ พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ ๒ และให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๑ เสียด้วย
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ฎีกา
มีปัญหาข้อกฎหมายที่สำคัญดังนี้
๑. ปัญหาที่ว่ากรมการขนส่งโจทก์ที่ ๒ มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เดิมกองทัพอากาศเป็นผู้ดูแลเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในสนามบิน ต่อมารัฐบาลตกลงจะแยกกิจการบินพลเรือนออกจากกองทัพอากาศให้กรมการขนส่งจัดเก็บรายได้ต่าง ๆ เป็นของกรมการขนส่งแต่ในที่สุดยังแยกไม่ได้ เพราะไม่มีงบประมาณและไม่มีคนดำเนินการในระหว่างที่ยังแยกไม่ได้นี้ คณะกรรมการลงมติให้กองทัพอากาศมีอำนาจหน้าที่เก็บค่าธรรมเนียมเครื่องบินขึ้นลงตลอดจนพักแรม ส่วนรายได้รายจ่ายให้เป็นของกรมการขนส่งและเป็นอยู่เช่นนี้ตลอดมาจนเกิดเรื่องนี้ตามเอกสารงบประมาณรายรับปี ๒๔๙๙ ค่าธรรมเนียมสนามบินและค่าเช่าเป็นรายรับของกรมการขนส่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เงินค่าธรรมเนียมและค่าเช่าที่เกิดการทุจริตรายนี้เป็นรายได้ของกรมการขนส่งโจทก์ที่ ๒ กองทัพอากาศโดยกรมการบินพลเรือนเพียงเป็นเจ้าหน้าที่ดูแล จัดเก็บและนำส่งกระทรวงการคลังให้เท่านั้น เมื่อมีการทุจริตและมีบุคคลที่จะต้องรับผิดชอบทางแพ่งในฐานละเมิดขึ้นเจ้าของรายได้คือกรมการขนส่งซึ่งเป็นโจทก์ที่ ๒ ย่อมมีอำนาจฟ้องได้เสมอ
๒. ปัญหาที่ว่า คดีโจทก์เฉพาะตัวจำเลยที่ ๑ ขาดอายุความหรือไม่
ข้อเท็จจริงได้ความว่า เจ้ากรมสารบรรณทหารอากาศมีบันทึกเสนอผู้บัญชาการทหารอากาศตามเอกสาร ล.๘ ว่า “ประธานกรรมการสอบสวนกรณีทุจริตค่าธรรมเนียมสนามบินใน บพร. (กรมการบินพลเรือน)รายงานว่า ผลการสอบสวนไม่มีหลักฐานยืนยันว่า น.อ.อบ อยู่หุ่นได้กระทำการทุจริตหรือมีส่วนร่วมในการทุจริตด้วย เป็นแต่เพียงบกพร่องต่อหน้าที่อันเป็นเหตุให้เกิดการทุจริต ซึ่งจะได้พิจารณาดำเนินการในเรื่องความรับผิดทางแพ่งต่อไป คณะกรรมการจึงได้สอบสวนในฐานะเป็นพยานและเห็นสมควรสั่งถอนประกันเพื่อคืนหลักประกันให้ น.อ.อบรับคืนไป”แล้วรองผู้บัญชาการทหารอากาศรับคำสั่งผู้บัญชาการทหารอากาศเซ็นว่า”อนุญาตให้ น.อ.อบ อยู่หุ่น ถอนประกันได้ตามเสนอ” ลงวันที่ไว้คือ ๑ ตุลาคม๒๕๐๑ ปัญหามีว่าโจทก์ที่ ๑ ได้รู้การละเมิดและรู้ตัวผู้ทำละเมิด (จำเลยที่ ๑)ตั้งแต่วันดังกล่าวนี้หรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เอกสาร ล.๘ เกิดขึ้นเนื่องมาจากนายสนิทเสนาสุข กรรมการตรวจเงินแผ่นดินรายงานมาตามเอกสาร จ.๗๒ (แพ่ง)แล้วคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดทางอาญาได้เสนอรายงานตามเอกสาร จ.๗๑ (แพ่ง) ว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดทางอาญาบ้าง ซึ่งระบุว่าพันจ่าอากาศเอกพิชัย รักประกอบ เรืออากาศโทพงษ์ พาณิชภักดีเรืออากาศตรีวีระยุทธ อิศรางกูร ณ อยุธยา ด้วยเหตุนี้เอง จึงได้มีรายงานตามเอกสาร ล.๘ แต่เนื่องจากที่คณะกรรมการสอบสวนนั้น เป็นเรื่องหาตัวผู้กระทำผิดทางอาญา ทางกระทรวงกลาโหมจึงทักท้วงมา ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๖๗ (แพ่ง) ซึ่งลงวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๐๑เมื่อพิจารณาเอกสารหมาย ล.๘ ซึ่งรองผู้บัญชาการทหารอากาศเซ็นให้ถอนประกันลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๐๑ เปรียบเทียบกับเอกสาร จ.๖๗ (แพ่ง) ซึ่งลงวันที่๗ พฤศจิกายน ๒๕๐๑ แล้ว เห็นได้ชัดว่าในขณะเซ็นถอนประกันตามเอกสาร ล.๘ นั้น ยังไม่ปรากฏตัวผู้ที่จะต้องรับผิดทางแพ่ง กระทรวงกลาโหม จึงขอให้สอบสวนเพิ่มเติมในเอกสาร ล.๘ ก็กล่าวไว้ด้วยว่า “ซึ่งจะได้พิจารณาและดำเนินการในเรื่องความรับผิดทางแพ่งต่อไป”
เมื่อคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาหาผู้ต้องรับผิดทางแพ่งได้ จึงรายงานไปตามเอกสารหมาย จ.๖๘ (แพ่ง) (ลงวันที่ ๑๘ ธันวาคม๒๕๐๑) คราวนี้ระบุชัดว่าจำเลยคนใดจะต้องรับผิดชอบทางแพ่งด้วยและเป็นเงินเท่าใดต่อมาพลอากาศเอกเฉลิมเกียรติ วัฒนางกูรผู้บัญชาการทหารอากาศลงชื่อรับทราบเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๐๑จึงต้องถือว่าโจทก์ที่ ๑ ทราบตัวผู้ทำละเมิดซึ่งจะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๐๑ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๐๒คดีจึงไม่ขาดอายุความ
๓. ปัญหาที่ว่าการกระทำของจำเลยที่ ๒, ๓ เป็นการละเมิดหรือไม่
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า กรมการบินพลเรือนได้มีคำสั่งตั้งกรรมการควบคุมดูแลเงินรายได้ผลประโยชน์ซึ่งมีจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และนาวาอากาศโทชู ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๔๙๘ ต่อมานาวาอากาศโทชูถึงแก่กรรม จึงมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ ๓ เป็นกรรมการแทนตั้งแต่วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๔๙๙ การทุจริตรายนี้เกิดขึ้นระหว่างที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ เป็นกรรมการมีอำนาจหน้าที่อยู่การแต่งตั้งจำเลยทั้งสามนั้นเป็นไปตามประมวลข้อบังคับของกองทัพอากาศมาตรา ๘ ข้อ ๒, ๓ โดยเฉพาะข้อ ๓ บัญญัติว่า “เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลเก็บเงินรายได้ที่จัดตั้งขึ้น ต้องเป็นข้าราชการสัญญาบัตรประจำการ และมิให้นายทหารฝ่ายการเงินหรือพลาธิการซึ่งเป็นพลาธิการของหน่วยเงินนั้นอยู่แล้ว เป็นผู้ดูแลเก็บเงินรายได้ มีหน้าที่รับเงินซึ่งหน่วยหรือองค์การใดนำมาส่ง ถ้าเงินรายได้รายใดไม่มีหน่วยหรือองค์การใดควบคุมอยู่ ให้เป็นหน้าที่ของผู้ดูแลเก็บเงินรายได้เข้าควบคุมเก็บเงินนั้น ๆ เอง” ปรากฏว่า เงินค่าธรรมเนียมขึ้นลงของเครื่องบินกับค่าเช่าไม่อยู่ในหน้าที่ของผู้อื่นจึงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าวควบคุมดูแล
การขึ้นลงของเครื่องบินที่สนามบินนั้น กัปตันของบริษัทการบินจะต้องลงชื่อรับรองในสมุดบัญชีขึ้นลงของสนามบิน การคำนวณหนี้สินค่าธรรมเนียมก็ต้องดูจากสมุดนี้แล้วออกหนังสือทวงหนี้ไปยังบริษัทการบินต่าง ๆ เอกสารการทวงหนี้นั้น ในระยะแรกจำเลยที่ ๑ และนาวาอากาศโทชูลงนาม แต่เมื่อนาวาอากาศโทชูถึงแก่กรรมแล้ว มีจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ลงนาม ใบทวงหนี้มีสำเนาด้วย ซึ่งที่ถูกจะต้องตรงกันและเพื่อความรอบคอบและสะดวกแก่การตรวจ ตามระเบียบของกองทัพอากาศจะต้องมีสมุดรายการใบทวงหนี้ หรือคณะกรรมการควรเก็บสำเนาใบทวงหนี้ไว้ เพื่อว่าเมื่อบริษัทการบินชำระหนี้มาคณะกรรมการจะได้ตรวจสอบดูกับสำเนาใบทวงหนี้ว่าได้ชำระถูกต้องหรือไม่ แต่คณะกรรมการดังกล่าวละเลยปล่อยให้พันจ่าอากาศเอกพิชัยเก็บสำเนาใบทวงหนี้ไว้เสียเอง ผลแห่งการตรวจสอบของคณะกรรมการสอบสวนปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ละเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่วางไว้ โดยปล่อยให้พันจ่าอากาศเอกพิชัยทำแทนแม้รายงานรายได้ประจำเดือน ก็ปรากฏว่าพันจ่าอากาศเอกพิชัยเป็นคนทำแล้วนำเสนอจำเลยซึ่งเป็นคณะกรรมการเซ็นนาม ถ้าคณะกรรมการ คือจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ จะได้ตรวจสอบกับสมุดประจำท่า โดยตรวจสอบกับสำเนาใบทวงหนี้ (ซึ่งถูกต้อง) แล้ว ก็คงจะไม่มีโอกาสเกิดการทุจริตยักยอกทรัพย์ได้ โดยที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ปล่อยปละละเลยให้พันจ่าอากาศเอกพิชัยเก็บสำเนาใบทวงหนี้ไว้ ทำให้พันจ่าอากาศเอกพิชัยมีโอกาสได้แก้สำเนาหรือเอาสำเนาออกเสียเลยตรวจสอบไม่ได้จึงทำให้พันจ่าอากาศเอกพิชัยกับพวกยักยอกทรัพย์ไปได้ การละเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ทำให้เกิดการทุจริตยักยอกทรัพย์รายนี้ขึ้น จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ จึงต้องรับผิด ที่จำเลยที่ ๒และที่ ๓ อ้างว่าเงินรายนี้อยู่ในความรับผิดของจำเลยที่ ๑ แต่ผู้เดียวฟังไม่ขึ้นเพราะคำสั่งแต่งตั้งกรรมการ (จ.๑๑๘-๑๑๙ แพ่ง) ไม่ได้แยกแยะว่าเงินประเภทนี้อยู่ในความควบคุมของจำเลยที่ ๑ แต่ผู้เดียว
นอกจากนั้นจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ซึ่งเป็นคณะกรรมการยังปฏิบัติฝ่าฝืนข้อบังคับของกองทัพอากาศว่าด้วยการเงิน มาตรา ๘ ข้อ ๓ คือ ปล่อยให้พันจ่าอากาศเอกพิชัยซึ่งเป็นนายทหารชั้นปะทวนให้เก็บเงิน ทำใบทวงหนี้และรักษาสำเนาใบทวงหนี้ แทนที่จะให้นายทหารสัญญาบัตรทำตามข้อบังคับและบางทีก็มีการออกใบเสร็จรับเงินชั่วคราว ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับ(มาตรา ๘ ข้อ ๙) อีกด้วย
ยิ่งกว่านั้น จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ยังฝ่าฝืนข้อบังคับมาตรา ๘ ข้อ ๔ คือไม่ได้จัดทำบัญชีเพื่อเป็นหลักฐานไว้ตรวจสอบการรับส่งเงิน ปล่อยให้พันจ่าอากาศเอกพิชัยดำเนินการไปตามลำพัง
ที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ฎีกาว่า ถูกโจทก์ที่ ๑ เรียกไปรับการอบรมระยะหนึ่งเมื่อเงินสูญหาย จะถือเป็นความผิดของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไม่ชอบนั้นศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยมิได้นำสืบว่า ที่จำเลยต้องไปรับการอบรมนั้น จำเลยไม่สามารถควบคุมดูแลเงินที่ตนมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบนี้อย่างไร ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้ว จำเลยจึงยังไม่พ้นความรับผิดชอบ
การปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับดังกล่าวมาข้างต้นนั้น ทำให้เกิดการทุจริตรายนี้ขึ้น ซึ่งถ้าหากได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับแล้ว การทุจริตรายนี้คงไม่เกิดขึ้นได้เลย จึงถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ที่ ๓ ประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์เสียหาย จึงต้องรับผิดเพื่อละเมิดจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ต้องรับผิด
พิพากษาแก้ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น