คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1090/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่ระบุว่า ได้มีการชำระเงินค่าที่ดินกันบางส่วนนั้น แม้จะไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังว่ามีการรับเงินดังกล่าวได้ เพราะหนังสือสัญญาดังกล่าวไม่ใช่ใบรับตาม ป. รัษฎากร
ปัญหาว่าเจ้าของที่ดินซึ่งอยู่ในเขตโครงการจัดรูปที่ดินตาม พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ฯ จะสามารถทำนิติกรรมโอนขายที่ดินนั้นให้กับบุคคลอื่นได้หรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ถ้าข้อกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลฎีกามีดุลพินิจที่จะไม่ยกขึ้นวินิจฉัยให้ได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา142(5).(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาจะขายที่ดินเนื้อที่ 7 ไร่3 งาน 50 ตารางวา ราคา 45,000 บาทให้โจทก์ ต่อมาจำเลยผิดสัญญาขอให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยทำสัญญาจะขายที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ แต่จำเลยกู้เงินโจทก์โดยนำเอาแบบฟอร์มมาให้จำเลยพิมพ์นิ้วมือบอกว่าเป็นสัญญากู้เงิน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้1,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…เชื่อได้ว่าจำเลยได้ทำสัญญาเอกสารหมาย จ. 1 จะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์จริง และเห็นว่าหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไม่ใช่ใบรับตามประมวลรัษฎากร ดังนั้นแม้ในหนังสือสัญญาจะบุว่าได้มีการชำระเงินค่าที่ดินกันบางส่วนก็รับฟังว่ามีการรับเงินดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามที่จำเลยฎีกา คดีปรากฏตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเอกสารหมาย จ. 1 ว่า จำเลยได้รับเงินมัดจำค่าที่ดินพิพาทไปจากโจทก์ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว เป็นเงิน 25,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 20,000 บาท โจทก์เบิกความว่าจำเลยตกลงให้โจทก์นำไปชำระให้แก่สหกรณ์การเกตรพระคือพัฒนา จำกัด จำเลยเองก็เบิกความรัยว่าโจทก์ ได้ออกเงินที่จำเลยยังเป็นหนี้สหกรณ์และได้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากสหกรณ์ให้กับจำเลยแล้ว จำเลยจึงต้องโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ตามสัญญา ที่จำเลยฎีกาทำนองว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตโครงการจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2514 พนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่นและจำเลยไม่มีอำนาจทำนิติกรรมโอนที่ดินให้แก่โจทก์ได้เพราะขัดต่อพระราชบัญญัติดังกล่าว ข้อกฎหมายในเรื่องนี้ ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ จึงไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและแม้ข้อกฎหมายดังกล่าวจะเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่สำหรับคดีนี้ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรที่จะยกขึ้นวินิจฉัยให้ตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 (5) ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share