คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6797/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ป. ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดกโดยไม่แบ่งมรดกให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาท สำหรับจำเลยที่ 1 จึงเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก เมื่อทรัพย์มรดกมีเพียงที่ดินสองแปลง จำเลยที่ 1ได้จดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองแปลงให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ไปแล้วถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว โจทก์มาฟ้องเกินกว่า 5 ปีคดีย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตร ป. เป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกย่อมมีความชอบธรรมที่จะรับไว้และครอบครองทรัพย์มรดกได้ด้วยอำนาจของตนไม่เข้าข่ายการปิดบังยักย้ายทรัพย์มรดกและไม่ถือว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแทนโจทก์ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่อรับเอาทรัพย์มรดก จึงเป็นคดีมรดกมีอายุความ1 ปี ตามมาตรา 1754 โจทก์ฟ้องเกินกว่า 1 ปี จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่าโจทก์เป็นบุตรของนายสมบุญ นางอนงค์ กิ่งก้าน ที่อยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ซึ่งนายสมบุญยอมรับว่าโจทก์เป็นบุตรและให้การศึกษาอุปการะเลี้ยงดูกับยอมให้โจทก์ใช้ชื่อสกุล นายสมบุญและจำเลยทั้งสามเป็นบุตรในจำนวน 8 คน ของนายแหยม นางปาน กิ่งก้านสำหรับนายแหยมถึงแก่กรรมนานแล้ว นายสมบุญถึงแก่กรรมเมื่อปี 2517นางปานถึงแก่กรรมเมื่อปี 2518 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2537 โจทก์ไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาธัญบุรี ตรวจหลักฐานทรัพย์มรดกของนางปานทราบว่ามรดกของนางปานมีที่ดินโฉนดเลขที่ 481 และที่ดินบางส่วนโฉนดเลขที่ 1207 ตำบลบึงบอน อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่29 ไร่ 2 งาน 38 ตารางวา และ 90 ไร่ ตามลำดับ รวมราคา 72,000,000บาท ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางปานตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 ต่อมาวันที่ 17 พฤษภาคม 2519 จำเลยที่ 1ยื่นคำขอลงชื่อจำเลยที่ 1 ฐานะผู้จัดการมรดกของนางปานในที่ดินทั้งสองดังกล่าว และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินบางส่วนโฉนดเลขที่ 1207 ให้แก่จำเลยที่ 2และที่ 3 ครั้นวันที่ 18 พฤษภาคม 2519 จำเลยที่ 1 ฐานะผู้จัดการมรดกโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 481 ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทั้งที่จำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่าโจทก์เป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของนางปานเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยไม่ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ ผู้รับมรดกแทนที่นายสมบุญ และจำเลยทั้งสามยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดกโดยกลฉ้อฉลและรู้อยู่ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวทำให้โจทก์เสื่อมประโยชน์ จำเลยทั้งสามจึงต้องถูกกำจัดมิให้ได้ที่ดินทั้งสองแปลง การที่จำเลยทั้งสามลงชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นการครอบครองแทนโจทก์ จำเลยทั้งสามต้องโอนโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามโอนโฉนดที่ดินเลขที่ 481 และ1207 ตำบลบึงบอน อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี โดยให้จำเลยทั้งสามออกค่าภาษี ค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์หากจำเลยทั้งสามไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ได้ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 72,000,000 บาท

จำเลยทั้งสามให้การว่า เมื่อนางปานถึงแก่กรรม โจทก์และนางอนงค์ตกลงกับฝ่ายจำเลยว่า ที่ดินมรดกเนื้อที่ 10 ไร่ ที่นางปานว่าจะยกให้โจทก์ขอรับเป็นเงินสดแทนและจะไม่เกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกอื่นซึ่งโจทก์รับเงินสดจำนวน 32,500 บาท ตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 23กุมภาพันธ์ 2519 โจทก์จึงรับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกทั้งหมดแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1ฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งปันที่ดินตามฟ้องโดยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามความประสงค์ของนางปาน จำเลยทั้งสามมิได้ยักย้าย ปิดบังทรัพย์มรดกโดยกลฉ้อฉล จึงไม่ถูกกำจัดมิให้ได้ทรัพย์มรดกจำเลยที่ 1 มิได้ครอบครองที่ดินตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ครอบครองที่ดินดังกล่าวเพื่อตนเองมิใช่ครอบครองแทนทายาท จำเลยที่ 1 จัดการมรดกสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2519 นับแต่นั้นจนวันที่โจทก์ฟ้องเกินกว่า 5 ปี คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่นางปานถึงแก่กรรม หรือควรรู้ถึงการถึงแก่กรรมของนางปาน ทั้งนี้ภายใน 10 ปี นับแต่นางปานถึงแก่กรรมเมื่อนับถึงวันฟ้องเกินกว่า 18 ปี คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 นอกจากนี้ราคาที่ดินตามฟ้องมิใช่ราคาที่แท้จริง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นโดยคู่ความรับกันและไม่โต้เถียงกันว่า โจทก์เป็นบุตรนายสมบุญ กิ่งก้านซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับจำเลยทั้งสามอันเกิดแต่นายแหยมและนางปาน กิ่งก้าน นายแหลมถึงแก่กรรมก่อน ต่อมาปี 2517 นายสมบุญถึงแก่กรรม และต่อมาในปี 2518 นางปานถึงแก่กรรม มีที่ดินโฉนดเลขที่481 และ 1207 ตำบลบึงบอน อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เป็นทรัพย์มรดกวันที่ 7 พฤษภาคม 2519 ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรชายคนโตของนางปานเป็นผู้จัดการมรดก และในวันที่ 17 และ 18 พฤษภาคม 2519จำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินทรัพย์มรดกทั้งสองแปลงให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยทั้งสามให้โอนที่ดินทรัพย์มรดกแก่โจทก์ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน2537 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าฟ้องขาดอายุความหรือไม่โจทก์อ้างว่าโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามว่า ทุจริต เบียดบัง ยักย้าย ปิดบังทรัพย์มรดก โจทก์จึงใช้สิทธิติดตามเอาคืนจึงไม่ขาดอายุความ เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางปานได้ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดก โดยไม่แบ่งมรดกของนางปานให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาท ดังนี้ เป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก ปรากฏว่าทรัพย์มรดกของนางปานมีเพียงที่ดินสองแปลงที่พิพาทกันนี้ จำเลยที่ 1ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองแปลงให้จำเลยที่ 2และจำเลยที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2519 แล้ว ถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 1 ว่า จัดการมรดกไม่ถูกต้องเกินกว่า 5 ปี นับแต่จำเลยที่ 1 จัดการมรดกเสร็จสิ้น คดีย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรนางปานเจ้ามรดกจึงเป็นทายาทโดยธรรมซึ่งมีสิทธิจะรับมรดก เมื่อผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกให้จำเลยที่ 2 และที่ 3แล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมมีความชอบธรรมที่จะรับไว้ด้วยสิทธิความเป็นทายาทและย่อมจะครอบครองทรัพย์มรดกได้ด้วยอำนาจของตน กรณีไม่เข้าข่ายการปิดบังยักย้ายทรัพย์มรดก และไม่ถือว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแทนโจทก์ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่อรับเอาทรัพย์มรดก จึงเป็นคดีมรดกอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754โจทก์ฟ้องเกินกว่า 1 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share