คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญารับจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลย แม้ขณะทำสัญญาโจทก์ยังไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล แต่อยู่ระหว่างการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท ซึ่งผู้เริ่มก่อการสามารถดำเนินการก่อหนี้หรือทำสัญญาใด ๆ ได้ยกเว้นกรณีตาม มาตรา 1102 และเมื่อจดทะเบียนบริษัทเสร็จจนมีสภาพเป็นนิติบุคคลแล้ว โจทก์ก็ยอมรับผลแห่งสัญญาโดยเข้าทำงานจนเสร็จ จึงเป็นการให้สัตยาบันแก่สัญญาที่ผู้เริ่มก่อการได้ทำไว้ตามมาตรา 1108 (2) สัญญาดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ ขณะเดียวกันสัญญาที่ทำขึ้นก็ไม่ใช่นิติกรรมอำพราง เพราะสัญญาทำขึ้นตรงกับเจตนาของคู่กรณี แม้ตอนแรกโจทก์จะใช้ชื่อจำเลยเป็นตัวแทนในการประมูลงานและทำสัญญาดังกล่าวต่อกรมทรัพยากรธรณี แต่ต่อมาโจทก์จำเลยประสงค์จะแปลงหนี้ใหม่เปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญจากการใช้ชื่อแทนหรือจากตัวการตัวแทนมาเป็นผู้รับจ้างและผู้ว่าจ้าง โดยโจทก์และจำเลยต่างยอมรับเอาข้อกำหนดตามสัญญารับจ้างดังกล่าวปฏิบัติต่อกันตลอดมา เป็นต้นว่า การทวงถามให้ชำระหนี้และปฏิบัติการชำระหนี้อันมีลักษณะทำนองเดียวกันกับข้อกำหนดในแบบสัญญาจ้างระหว่างกรมทรัพยากรธรณีกับจำเลย สัญญารับจ้างดังกล่าวจึงมีผลบังคับได้ในรูปของการที่ได้แปลงหนี้มาใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคหนึ่ง และมาตรา 351 โดยอนุโลม
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) บัญญัติว่า “ในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์ใด ๆ เป็นของตนทั้งหมด แต่พิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่ง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นก็ได้” อันถือเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 142 วรรคหนึ่ง ที่ว่าศาลต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ แต่ห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ดังนั้น ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้ซึ่งลูกหนี้หรือจำเลยอาจจะยังคงค้างชำระอยู่บางส่วน เจ้าหนี้หรือโจทก์ก็ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้ตามมูลหนี้ที่ยังค้างอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 194 ได้ ดังนั้น ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจวินิจฉัย และพิพากษาให้โจทก์ได้รับชำระหนี้แต่เพียงบางส่วนได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินให้โจทก์ 1,202,434.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,090,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,090,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 453,367.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2536 ผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทโจทก์อันประกอบด้วยนางสาวจามรีย์ กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์คนปัจจุบัน และนายอนันต์ อดีตพนักงานของโจทก์ได้ยื่นขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิเพื่อจัดตั้งบริษัทโจทก์ หลังจากนั้นในวันที่ 30 กันยายน 2536 จำเลยได้ทำสัญญารับจ้างเหมาก่อสร้างโรงเก็บโคลนผงกับกรมทรัพยากรธรณีในราคา 1,090,000 บาท ตามหนังสือบริคณห์สนธิและแบบสัญญาจ้าง ต่อมาในวันที่ 15 ตุลาคม 2536 โจทก์ได้จดทะเบียนตั้งบริษัทสำเร็จเป็นนิติบุคคลตามหนังสือรับรอง และระหว่างวันที่ 10 ถึง 15 ตุลาคม 2536 โจทก์กับจำเลยได้ลงนามทำสัญญารับจ้างเหมาก่อสร้างดังกล่าวต่อกันในราคา 1,090,000 บาท เท่าราคาที่จำเลยทำสัญญารับจ้างงานมาจากกรมทรัพยากรธรณี คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า สัญญารับจ้างเหมาก่อสร้างดังกล่าวระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะหรือไม่ ซึ่งความข้อนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1102 คงบัญญัติห้ามเฉพาะมิให้ชี้ชวนประชาชนให้ซื้อหุ้น และมาตรา 1113 บัญญัติว่า “ผู้เริ่มก่อการบริษัทต้องรับผิดร่วมกันและโดยไม่จำกัดในบรรดาหนี้… ซึ่งที่ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติ และแม้จะได้มีอนุมัติก็ยังคงต้องรับผิดอยู่เช่นนั้น…” มาตรา 1108 บัญญัติว่า “กิจการอันจะพึงทำในที่ประชุมตั้งบริษัท คือ…(2) ให้สัตยาบันแก่บรรดาสัญญาซึ่งผู้เริ่มก่อการได้ทำไว้…” ถ้อยคำในบทบัญญัติดังกล่าวประกอบด้วยข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ในเบื้องต้นย่อมแสดงให้เห็นว่า ผู้เริ่มก่อการสามารถดำเนินการก่อหนี้หรือทำสัญญาใด ๆ ได้ทุกอย่าง ยกเว้นกรณีตามมาตรา 1102 แต่จะต้องรับผิดร่วมกัน ดังนั้นในเมื่อสัญญารับจ้างได้จัดทำโดยผู้เริ่มก่อการหรือนางสาวจามรีย์กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ และมีนายอนันต์ผู้เริ่มก่อการบริษัทโจทก์อีกคนหนึ่งร่วมลงนามเป็นพยานด้วย โดยภายหลังจากนั้นทั้งโจทก์และจำเลยก็ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย รวมทั้งได้มีการทวงหนี้และจะจัดชำระหนี้แก่กันตามสัญญาแล้ว ซึ่งอย่างน้อยก็ถือได้ว่าคู่สัญญาได้ยอมรับเสมือนเป็นการให้สัตยาบันแก่สัญญาโดยปริยายแล้ว กรณีจึงมีผลเป็นสัญญาโดยสมบูรณ์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและเจตนาของคู่กรณีทุกประการอันมีผลให้บังคับได้ อีกทั้งไม่ถือเป็นนิติกรรมอำพราง เพราะแม้ในตอนแรกโจทก์จะใช้ชื่อจำเลยเป็นตัวแทนในการประมูลงานและทำสัญญาดังกล่าวต่อ กรมทรัพยากรธรณี แต่ต่อมาโจทก์จำเลยประสงค์จะแปลงหนี้ใหม่เปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญจากการใช้ชื่อแทนหรือจากตัวการตัวแทนมาเป็นผู้รับจ้างและผู้ว่าจ้าง โดยโจทก์และจำเลยต่างยอมรับเอาข้อกำหนดตามสัญญารับจ้างดังกล่าวปฏิบัติต่อกันตลอดมา เป็นต้นว่า การทวงถามให้ชำระหนี้และปฏิบัติการชำระหนี้อันมีลักษณะทำนองเดียวกันกับข้อกำหนดในแบบสัญญาจ้างระหว่างกรมทรัพยากรธรณีกับจำเลย สัญญารับจ้างดังกล่าวจึงมีผลบังคับได้ในรูปของการที่ได้แปลงหนี้มาใหม่ตามสัญญารับจ้าง โดยเทียบเคียงตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคหนึ่ง และ มาตรา 351 โดยอนุโลม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่าศาลอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยและพิพากษาให้โจทก์ได้รับชำระหนี้แต่เพียงบางส่วนได้หรือไม่ ซึ่งความข้อนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) บัญญัติว่า “ในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์ใด ๆ เป็นของตนทั้งหมด แต่พิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่ง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นก็ได้” อันถือเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 142 วรรคหนึ่ง ที่ว่าศาลต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ แต่ห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ดังนั้นด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้ซึ่งลูกหนี้หรือจำเลยอาจจะยังคงค้างชำระอยู่บางส่วน เจ้าหนี้หรือโจทก์ก็ย่อมมีเหตุที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้ตามมูลหนี้เพียงแค่นั้นตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 194 ดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นนับว่าอยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการได้ตามกฎหมายและความยุติธรรม…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระหนี้จำนวน 584,491.32 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ และคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่ศาลชั้นต้นเรียกเก็บเกินมาแก่โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share