คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2470/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พฤติการณ์ที่จำเลยกับพวกกระทำต่อผู้เสียหายตั้งแต่เมื่อพบผู้เสียหายบนรถยนต์โดยสารจนกระทั่งมีคนมาช่วยเหลือผู้เสียหาย เป็นลักษณะของการกระทำที่ต้องการโอ้อวดบารมีแสดงอำนาจบาตรใหญ่เพื่อข่มเหงรังแกผู้เสียหายให้ผู้เสียหายเกรงกลัวโดยความคึกคะนองตามวิสัยของบุคคลที่ยังเยาว์วัย ด้วยความคิดอ่านและคิดว่าสิ่งที่กระทำไปนั้นคือสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น น่าจะไม่มีเจตนาที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต ประกอบกับคำเบิกความของผู้เสียหายและ ฉ. พยานโจทก์ก็ยังมีข้อน่าสงสัยว่า จำเลยกระชากสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองคำขาดโดยเจตนาที่จะเอาไปโดยสุจริตหรือว่าสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายขาดเพราะจำเลยจับคอเสื้อผู้เสียหายกระชาก เป็นเหตุให้สร้อยคอทองคำและพระเลี่ยมทองคำตกหล่นหายไป แม้โจทก์จะมีคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยระบุว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาปล้นทรัพย์ แต่จำเลยก็ยังโต้เถียงว่าจำเลยไม่ได้ให้การรับสารภาพ ตามพฤติการณ์แห่งคดียังเป็นที่น่าสงสัยอยู่ว่าจำเลยมีเจตนาเอาสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองคำของผู้เสียหายไปโดยทุจริตหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง แต่การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก ซึ่งเป็นการกระทำที่รวมอยู่ในความผิดฐานชิงทรัพย์ ศาลลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคหนึ่งจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน เป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก 4 ปี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยอายุกว่าสิบเจ็ดปีแต่ยังไม่เกินยี่สิบปีลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 76 ให้หนึ่งในสามจำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก2 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า ไม่ได้กระทำผิดฐานชิงทรัพย์นั้น โจทก์มีนายปรัชญาผู้เสียหายเบิกความว่า ระหว่างที่ผู้เสียหายยืนอยู่บนรถยนต์โดยสาร พวกของจำเลยพูดขึ้นว่า “เฮ้ยเด็กสยามนี่หว่า” และถามว่า “จะไปไหน” ผู้เสียหายบอกว่าจะเดินเข้าไปข้างในและขึ้นจากบันไดเพื่อเดินเข้าไปข้างในรถยนต์โดยสารเมื่อขึ้นไปยืนอยู่บนพื้นรถยนต์โดยสารแล้ว จำเลยใช้มือทั้งสองข้างจับคอเสื้อผู้เสียหายแล้วดันผู้เสียหายตกจากรถยนต์โดยสารลงมาที่พื้นถนน จำเลยกับพวกตามลงมาบนถนน จำเลยใช้มือจับคอเสื้อผู้เสียหายเหวี่ยงไปกระแทกกับข้างรถยนต์โดยสาร แล้วจำเลยจับมือผู้เสียหายเหวี่ยงไปกระแทกกับข้างรถยนต์โดยสารอีกจากนั้นจำเลยจับคอเสื้อผู้เสียหายไว้แล้วจูงผู้เสียหายให้เดินตามไปที่สะพานลอยข้ามถนน พวกของจำเลยอีกสองคนก็เดินตามมา เมื่อเดินไปถึงเชิงสะพานลอย จำเลยได้กระชากเอาสร้อยคอทองคำที่ผู้เสียหายสวมอยู่พร้อมพระเลี่ยมทองคำ 1 องค์ไปแล้วพูดว่าให้ผู้เสียหายถอดเสื้อให้จำเลยอีก ผู้เสียหายบอกว่าให้ไม่ได้เอาเข็มขัดที่ผู้เสียหายคาดอยู่ไปแทน ระหว่างที่ผู้เสียหายถอดเข็มขัดอยู่เพื่อนของจำเลยได้ดึงเอาเข็มขัดไป ขณะนั้นจำเลยยืนจับคอเสื้อผู้เสียหายอยู่ด้านหน้า หลังจากนั้นจำเลยจับคอเสื้อของผู้เสียหายพาไปที่สถานีบริการน้ำมัน เมื่อไปถึงสถานีบริการน้ำมัน เพื่อนของจำเลยใช้มือชกที่ศีรษะผู้เสียหายด้านหลัง 1 ครั้งจำเลยกระชากคอเสื้อพาผู้เสียหายเข้าไปในบริเวณสถานีบริการน้ำมันประมาณ 5 ถึง 6 ก้าว ก็มีชายประมาณ 4 ถึง 5 คนเข้ามาจับเพื่อนของจำเลยไว้คนหนึ่ง ส่วนจำเลยกับเพื่อนอีกคนหนึ่งวิ่งหลบหนีไป ตามคำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าพฤติการณ์ที่จำเลยกับพวกกระทำต่อผู้เสียหายตั้งแต่เมื่อพบผู้เสียหายบนรถยนต์โดยสารจนกระทั่งมีคนมาช่วยเหลือผู้เสียหายเป็นลักษณะของการกระทำที่ต้องการโอ้อวดบารมีแสดงอำนาจบาตรใหญ่เพื่อข่มเหงรังแกผู้เสียหาย ให้ผู้เสียหายเกรงกลัวโดยความคึกคะนองตามวิสัยของบุคคลที่ยังเยาว์วัยด้วยความคิดอ่านและคิดว่าสิ่งที่กระทำไปนั้นคือสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น น่าจะไม่มีเจตนาที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต ซึ่งผู้เสียหายก็ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ระหว่างที่จำเลยใช้มือจับคอเสื้อผู้เสียหายนั้นมือของจำเลยอาจจะถูกสร้อยคอทองคำที่ผู้เสียหายสวมอยู่ได้ เมื่อสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองหลุดหายไป ผู้เสียหายไม่เห็นจำเลยนำสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองคำเก็บไว้ที่ตัวจำเลย นายฉัตร์บุญแจ่ม พยานโจทก์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่าผู้เสียหายทราบว่าสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองคำหายไป หลังจากที่นายฉัตร์กับพวกจับเพื่อนของจำเลยได้หนึ่งคนในบริเวณสถานีบริการน้ำมันจากคำเบิกความของผู้เสียหายและนายฉัตร์ดังกล่าวทำให้มีข้อน่าสงสัยว่าจำเลยกระชากสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองคำขาดโดยเจตนาที่จะเอาไปโดยทุจริตหรือว่าสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายขาดเพราะจำเลยจับคอเสื้อผู้เสียหายกระชากเป็นเหตุให้สร้อยคอทองคำและพระเลี่ยมทองคำตกหล่นหายไป อันสอดคล้องกับคำเบิกความของนายฉัตร์ที่ว่าผู้เสียหายเพิ่งทราบภายหลังเมื่อจำเลยมอบตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจและได้รับการแจ้งข้อหาว่าปล้นทรัพย์ผู้อื่นตามบันทึกการมอบตัวและแจ้งข้อกล่าวหาเอกสารหมาย จ.1 จำเลยก็รับเพียงว่าร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเท่านั้น แม้โจทก์จะมีคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยเอกสารหมาย จ.10 ระบุว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาปล้นทรัพย์ แต่จำเลยก็ยังโต้เถียงว่าจำเลยไม่ได้ให้การรับสารภาพ ศาลฎีกาเห็นว่าตามพฤติการณ์แห่งคดียังเป็นที่น่าสงสัยอยู่ว่าจำเลยมีเจตนาเอาสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองคำของผู้เสียหายไปโดยทุจริตหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก ซึ่งเป็นการกระทำที่รวมอยู่ในความผิดฐานชิงทรัพย์ ศาลจึงลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคท้าย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 วรรคแรก ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุกว่าสิบเจ็ดปีแต่ไม่เกินยี่สิบปีลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76ให้หนึ่งในสาม กำหนดโทษจำคุก 2 ปี ให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด3 ปี ข้อหานอกจากนี้ให้ยก

Share