แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องภายหลังสืบพยานจำเลยไปบ้างแล้วโดยอ้างเหตุผลว่าคำฟ้องของโจทก์บกพร่องเกี่ยวกับวันที่เกิดเหตุเนื่องจากพิมพ์ผิดพลาด ขอแก้คำว่า เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2541 เป็นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2541 เป็นการยื่นก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และถือได้ว่าเป็นเหตุอันควรอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้เพราะอาจเกิดบกพร่องพิมพ์ผิดพลาดเช่นนั้นได้ ประกอบกับเป็นการแก้รายละเอียดซึ่งต้องแถลงในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 164 ทั้งจำเลยให้การและเบิกความปฏิเสธลอย ๆ ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าวันที่ 26 ตุลาคม 2541 จำเลยทำอะไรอยู่ที่ไหน นอกจากนี้ยังปรากฏว่าวันที่ 29 ตุลาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่ระบุในคำฟ้องฉบับเดิมจำเลยก็ถูกขังในเรือนจำตามหมายขังระหว่างสอบสวนในคดีนี้ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยหลงต่อสู้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2541 เวลากลางวันจำเลยมีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 70 เม็ด น้ำหนัก5.820 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ริบของกลาง และนับโทษของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีดังกล่าว
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 จำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี ริบของกลาง นับโทษของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 667/2543 ของศาลชั้นต้นข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 บัญญัติว่า เมื่อมีเหตุอันควรโจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น… คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องภายหลังสืบพยานจำเลยไปบ้างแล้ว โดยอ้างเหตุผลว่าคำฟ้องของโจทก์บกพร่องเกี่ยวกับวันที่เกิดเหตุเนื่องจากพิมพ์ผิดพลาด ขอแก้คำว่า เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2541 เป็นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2541 การยื่นคำร้องของโจทก์ดังกล่าว เป็นการยื่นก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และเหตุที่โจทก์อ้างมานั้นก็ถือได้ว่าเป็นเหตุอันควรอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้เพราะอาจเกิดบกพร่องพิมพ์ผิดพลาดเช่นนั้นได้ ประกอบกับการที่โจทก์ขอแก้ฟ้องเฉพาะวันที่ที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดนั้น เป็นการแก้รายละเอียดซึ่งต้องแถลงในฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 164 ทั้งจำเลยให้การและเบิกความก็เป็นเพียงการปฏิเสธลอย ๆ ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าวันที่ 26 ตุลาคม 2541 จำเลยทำอะไรอยู่ที่ไหน นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า วันที่ 29 ตุลาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่ระบุในคำฟ้องฉบับเดิมจำเลยก็ถูกขังในเรือนจำตามหมายขังระหว่างสอบสวนในคดีนี้ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยหลงต่อสู้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน