แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำสั่งศาลจังหวัดสกลนครในคดีก่อนเป็นการสั่งเกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่ามีการกำหนดวิธีการบังคับคดีไว้อย่างไร จำเลยที่ 1 จะต้องชำระหนี้อย่างไรจึงจะถูกต้อง และมีสิทธิเลือกปฏิบัติตามคำพิพากษาได้หรือไม่นั้น เป็นคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษา มิใช่เป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือประเด็นแห่งคดี ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เห็นว่าตนมีสิทธิเลือกปฏิบัติตามคำพิพากษาด้วยการชำระเงินโดยไม่ต้องจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองกับพวกก่อน จำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิที่จะยกข้อดังกล่าวขึ้นต่อสู้ในคดีนี้ได้ ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งถึงที่สุดไปแล้วนั้น บังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองกับพวก หากช. ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้จำเลยที่ 1 กับ ช. ร่วมกันชำระเงิน137,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสองกับพวกนั้น เป็นการกำหนดให้จำเลยที่ 1 กระทำการชำระหนี้ทีละอย่างก่อนหลังตามลำดับ หาใช่เป็นการกระทำหลายอย่างอันลูกหนี้จะพึงเลือกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 198 ไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิที่จะเลือกนำเงินจำนวน 137,000 บาท มาชำระแก่โจทก์ทั้งสองกับพวก แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่าหลังจากได้มีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 1 นำเงินค่าที่ดินจำนวน 137,000 บาท พร้อมค่าทนายความและค่าธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ทั้งสองมาวางต่อศาลจังหวัดสกลนครและศาลจังหวัดสกลนครมีคำสั่งให้รับเงินในวันนั้นเอง และจำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินพิพาทไปยื่นขอแบ่งขายต่อสำนักงานที่ดินอำเภอสว่างแดนดิน ซึ่งต่อมาสำนักงานที่ดินดังกล่าวมีหนังสือถึงศาลจังหวัดสกลนครเพื่อขอให้อธิบายคำพิพากษาซึ่งศาลก็เห็นชอบด้วยกับความเห็นของสำนักงานที่ดินว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะยื่นคำขอแบ่งขายที่ดินพิพาทได้จำเลยที่ 1 จึงได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300จึงไม่อาจเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์ทั้งสองกับพวกชนะคดีจำเลยที่ 1 กับพวก ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1047, 1048/2532 ของศาลจังหวัดสกลนคร คดีถึงที่สุด จำเลยที่ 1 ซึ่งทราบคำพิพากษาแล้วไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษา และได้นำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่จะต้องโอนให้แก่โจทก์ทั้งสองกับพวกตามคำพิพากษาไปเปลี่ยนเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 7814 แล้วแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยอีก 11 แปลง ต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 7838 และ 7839 ที่แบ่งแยกดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริต โดยจำเลยทั้งสองทราบว่าที่ดินทั้งสองแปลงนั้นเป็นของโจทก์ทั้งสองตามคำพิพากษา นิติกรรมการซื้อขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ ขอให้พิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 7838 และ 7839 ตำบลสว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 7838 ให้แก่โจทก์ที่ 1 เนื้อที่ 76 ตารางวา ให้แก่โจทก์ที่ 2 เนื้อที่ 2 งาน 56 ตารางวา และจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 7839 ให้แก่โจทก์ที่ 1 ทั้งแปลง โดยให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมในการโอนหากจำเลยที่ 2 ไม่ยอมปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องรวมทั้งเอกสารท้ายคำฟ้องและคำให้การ ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เคยยื่นคำร้องคัดค้านการออกคำบังคับในคดีเดิม ซึ่งศาลจังหวัดสกลนครได้วินิจฉัยแล้วว่า การปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะต้องปฏิบัติตามลำดับของคำพิพากษา มิใช่เลือกปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง การที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้เพื่อให้ศาลวินิจฉัยในเรื่องเดียวกันอีกจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 โจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงได้ แต่ไม่มีสิทธิบังคับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกให้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 7838 และ 7839 ตำบลสว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองข้อแรกว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิเลือกปฏิบัติตามคำพิพากษา โดยชำระเงินแทนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองกับพวก เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับที่ศาลจังหวัดสกลนครเคยวินิจฉัยชี้ขาดในคดีก่อนหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะเคยยื่นคำร้องคัดค้านคำบังคับและศาลจังหวัดสกลนครมีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2536 ว่าจำเลยที่ 1 ไม่อาจเลือกปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลได้ จำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโดยโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองกับพวกก่อน การที่จำเลยที่ 1 จะชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองกับพวกจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามลำดับของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงให้ยกคำร้อง แม้จะเป็นการวินิจฉัยประเด็นเดียวกับคดีนี้ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิเลือกปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในคดีเดิม โดยการชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองกับพวกได้หรือไม่มาแล้วก็ตาม คำสั่งศาลจังหวัดสกลนคร ดังกล่าวก็เป็นการสั่งเกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่ามีการกำหนดวิธีการบังคับคดีได้อย่างไร จำเลยที่ 1 จะต้องชำระหนี้อย่างไรจึงจะถูกต้อง จำเลยที่ 1 มีสิทธิเลือกปฏิบัติตามคำพิพากษาได้หรือไม่ คำสั่งของศาลจังหวัดสกลนครดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษา มิใช่เป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือประเด็นแห่งคดี ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิเลือกปฏิบัติตามคำพิพากษาด้วยการชำระเงิน โดยไม่ต้องจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองกับพวก จำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นต่อสู้ในคดีนี้ว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 โอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 1 มีสิทธิเลือกปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้ จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 แต่อย่างใด
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองข้อต่อไปว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1047, 1048/2532 ของศาลจังหวัดสกลนครที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 372 ตำบลสว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดินจังหวัดสกลนครให้แก่โจทก์ทั้งสองกับพวก หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้จำเลยที่ 1กับนายชุ่ม มือสันเที๊ยะ ร่วมกันชำระเงิน 137,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสองกับพวกนั้นจำเลยที่ 1 มีสิทธิเลือกปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยขอชำระเงินแทนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองกับพวกหรือไม่ เห็นว่า ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งถึงที่สุดไปแล้วนั้น บังคับว่าให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 372 ตำบลสว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ให้แก่โจทก์ทั้งสองกับพวก หากนายชุ่ม มือสันเที๊ยะ ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้จำเลยที่ 1 กับนายชุ่ม มือสันเที๊ยะ ร่วมกันชำระเงิน 137,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสองกับพวกนั้น เป็นการกำหนดให้จำเลยที่ 1 กระทำการชำระหนี้ทีละอย่างก่อนหลังตามลำดับ กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ต้องจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองกับพวกเสียก่อน ถ้าไม่สามารถโอนที่ดินพิพาทได้ไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ ก็ตามจึงให้ชำระเงินแทนได้ การชำระหนี้ต้องเป็นไปตามลำดับ หาใช่เป็นการกระทำหลายอย่างอันลูกหนี้จะพึงเลือกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 198 ไม่ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิที่จะเลือกนำเงินจำนวน 137,000 บาท มาชำระแก่โจทก์ทั้งสองกับพวก แต่อย่างไรก็ตามเมื่อศาลจังหวัดสกลนครอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2535 ต่อมาวันที่ 3 สิงหาคม 2535 จำเลยที่ 1 นำเงินค่าที่ดินตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำนวน 137,000 บาท พร้อมค่าทนายความและค่าธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ทั้งสองกับพวกอีก 9,250 บาท มาวางต่อศาลจังหวัดสกลนคร และศาลจังหวัดสกลนครก็ได้มีคำสั่งให้รับเงินดังกล่าวไว้ในวันนั้นเอง นอกจากนี้ยังปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินพิพาทไปยื่นขอแบ่งขายต่อสำนักงานที่ดินอำเภอสว่างแดนดิน ต่อมาวันที่ 24 กันยายน 2535 ทางสำนักงานที่ดินอำเภอสว่างแดนดินได้มีหนังสือถึงศาลจังหวัดสกลนครเพื่อขอให้อธิบายคำพิพากษา โดยทางสำนักงานที่ดินอำเภอสว่างแดนดินมีความเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากำหนดแนวทางให้เลือก 2 ทาง ทางที่ 1 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสองกับพวก แต่จำเลยที่ 1 เลือกปฏิบัติทางที่ 2 กล่าวคือ ร่วมกันชำระเงินจำนวน 137,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสองกับพวก และจำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินพิพาทมายื่นขอแบ่งขาย แต่โจทก์ทั้งสองไม่ยินยอมรับเงินจำนวน 137,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 ได้วางไว้ต่อศาลทางสำนักงานที่ดินอำเภอสว่างแดนดินเห็นว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิโดยชอบที่จะยื่นคำขอแบ่งขายที่ดินพิพาทได้ต่อมาวันที่ 29 กันยายน 2535 ศาลจังหวัดสกลนครได้มีหนังสือตอบไปว่าความเห็นดังกล่าวถูกต้องแล้ว ต่อมาวันที่ 20 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แม้สัญญาขายและบันทึกถ้อยคำตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 และ 7 จะบันทึกว่าจำเลยที่ 2 ทราบว่าที่ดินพิพาทมีการดำเนินคดีทางศาลและการจดทะเบียนรับโอนอาจถูกเพิกถอนได้ จำเลยทั้งสองขอยอมรับผิดหากเกิดความเสียหายไว้ด้วยก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ในลักษณะเช่นนี้จะถือว่าจำเลยที่ 2 รับโอนกรรมสิทธิ์โดยไม่สุจริตหาได้ไม่ เพราะเมื่อศาลจังหวัดสกลนครได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้คู่ความฟังแล้ว จำเลยที่ 1 ได้นำเงินค่าที่ดินจำนวน 137,000 บาท ไปวางต่อศาลซึ่งศาลจังหวัดสกลนครก็รับไว้และต่อมาวันที่ 24 กันยายน 2535 เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอสว่างแดนดินก็ได้มีหนังสือแสดงความเห็นไปยังศาลจังหวัดสกลนครว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิเลือกปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยการชำระเงินค่าที่ดินพิพาทจำนวน 137,000 บาท และจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะแบ่งขายที่ดินพิพาทได้ และขอให้ศาลจังหวัดสกลนครอธิบายคำพิพากษาซึ่งในวันที่ 29 กันยายน 2535 ศาลจังหวัดสกลนครก็อธิบายว่าความเห็นดังกล่าวถูกต้องดังนั้นจะเห็นได้ทั้งจำเลยที่ 1 สำนักงานที่ดินอำเภอสว่างแดนดิน และศาลจังหวัดสกลนครต่างมีความเห็นพ้องกันว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิเลือกปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยการชำระเงิน 137,000 บาท แทนการโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสองกับพวกและมีสิทธิที่จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ขายที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลใด ๆ ได้ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวย่อมเป็นข้อที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 จึงไม่อาจเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน