คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6832/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ห้องควบคุมเรือบนชั้นดาดฟ้าที่จำเลยที่ 1 นำผู้เสียหายที่ 1 ขึ้นไปข่มขืนกระทำชำเรานั้นแยกกันเป็นส่วนสัดจากชั้นล่างที่ผู้เสียหายที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 อยู่ และที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 จับผู้เสียหายที่ 2 ลงมาจากดาดฟ้ามาชั้นล่างนั้นก็เพื่อมิให้ผู้เสียหายที่ 2 ไปขัดขวางการข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 เท่านั้น ลักษณะดังกล่าวไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ต่อหน้าผู้เสียหายที่ 2 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 อันเป็นต่อหน้าธารกำนัลแต่อย่างใด เมื่อผู้เสียหายทั้งสองถอนคำร้องทุกข์จำเลยที่ 1 ในข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายทั้งสองและข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในข้อหาร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 และร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายทั้งสองแล้วสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 145, 276,278, 281, 295, 310 ทวิ, 312 ทวิ และนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145 วรรคแรก, 295, 276 วรรคแรก จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 276 วรรคแรก, 86ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานจำคุก 6 เดือน ฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 1ให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน ฐานข่มขืนกระทำชำเรา จำคุก 15 ปี ลงโทษจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย จำคุกคนละ 1 ปี จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 6 เดือน ฐานสนับสนุนให้ผู้อื่นข่มขืนกระทำชำเรา จำคุกคนละ 10 ปี รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 16 ปีจำคุกจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 คนละ 10 ปี 6 เดือน ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 810/2538 นั้น คดีดังกล่าวยังไม่มีคำพิพากษาจึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ให้ยกคำขอส่วนนี้
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสามในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานด้วย คงจำคุกจำเลยทั้งสามฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคนละ 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2538เวลาประมาณ 17.30 นาฬิกา นางสาวมะณี ชูชาติ ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของนายต๋อง ไม่มีนามสกุล ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นคนสัญชาติลาวกับชายอีกคนหนึ่งซึ่งผู้เสียหายทั้งสองบอกว่าชื่อนายชัยได้ขึ้นไปบนเรือแม่น้ำโขงปริ๊นเซสซึ่งจอดอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตอำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม เพื่อรับประทานอาหารบนเรือซึ่งจำเลยที่ 1 เปิดขายอาหาร เมื่อขึ้นบนเรือและนั่งที่โต๊ะเพื่อรับประทานอาหารกันนั้นก่อนเรือจะออกจากท่านายชัยซึ่งอยู่ห่างกับผู้เสียหายทั้งสองได้ขอยืมโทรศัพท์มือถือเคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 เพื่อพูดโทรศัพท์ และต่อมานายชัยได้ลงไปจากเรือโดยไม่ได้คืนโทรศัพท์ให้แก่จำเลยที่ 1 จากนั้นเรือได้ออกจากท่าแล่นไปตามลำน้ำโขง จนเมื่อเวลาประมาณ 21 นาฬิกา เรือได้กลับมาเทียบท่า จำเลยที่ 1 สอบถามผู้เสียหายทั้งสองถึงโทรศัพท์ที่นายชัยเอาไปนั้น ผู้เสียหายทั้งสองปฏิเสธว่าไม่ได้ร่วมรู้เห็นในการกระทำของนายชัยดังกล่าว จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 และหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายทั้งสองไว้บนเรือ ต่อมาจึงปล่อยตัวผู้เสียหายทั้งสองไป ผู้เสียหายทั้งสองไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและนำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยทั้งสามในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ตกลงใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองเป็นเงิน 8,000 บาทผู้เสียหายทั้งสองจึงได้ถอนคำร้องทุกข์ข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขังจำเลยทั้งสาม และผู้เสียหายที่ 1 ถอนคำร้องทุกข์จำเลยทั้งสามข้อหาข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย ล.1
สำหรับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ต่อหน้าธารกำนัลของจำเลยที่ 1 และการสนับสนุนของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 นั้น เห็นว่า ห้องควบคุมเรือบนชั้นดาดฟ้าที่จำเลยที่ 1 ได้นำผู้เสียหายที่ 1ขึ้นไปข่มขืนกระทำชำเรานั้นแยกกันเป็นส่วนสัดจากชั้นล่างที่ผู้เสียหายที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 อยู่ ดังปรากฏตามภาพถ่ายของเรือหมาย จ.11 จ.12 และ จ.13 แล้วจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ต่อหน้าผู้เสียหายที่ 2 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 จับผู้เสียหายที่ 2 ลงมาจากดาดฟ้ามาชั้นล่างนั้นก็เพื่อมิให้ผู้เสียหายที่ 2 ไปขัดขวางการข่มขืนกระทำชำเราของผู้เสียหายที่ 1 เท่านั้นลักษณะดังกล่าวไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ต่อหน้าผู้เสียหายที่ 2 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 อันเป็นต่อหน้าธารกำนัลแต่อย่างใด ดังนั้นเมื่อผู้เสียหายทั้งสองถอนคำร้องทุกข์จำเลยที่ 1 ในข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายทั้งสองและข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในข้อหาร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 และร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายทั้งสองตามรายงานประจำวันเอกสารหมาย ล.1 แล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) ฎีกาของโจทก์ในความผิดฐานนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share