แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ต้องโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำและโจทก์จะติดต่อกับทนายหรือพยานก็ต้องอาศัยญาติเป็นผู้แทน วันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก ทนายโจทก์ไปธุระจังหวัดอื่นไม่มีกำหนดกลับ หลักฐานดำเนินคดีอยู่ที่ทนายและยังติดต่อกันไม่ได้ด้วย โจทก์จึงขอเลื่อนคดีไป 2 เดือนเพื่อหาทนายใหม่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เลื่อนไป 14 วัน วันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งที่ 2 ทนายใหม่ติดคดีที่ศาลอื่น จะมาดำเนินคดีให้โจทก์ได้ในวันที่ 1 เดือนต่อไป (อีก 16 วัน) และมีหนังสือของทนายส่งศาลเพื่อเป็นการยืนยันคำแถลงประกอบกับโจทก์ประสงค์จะให้ทนายซักถามพยานให้ดังนี้ เห็นว่าโจทก์ขอเลื่อนคดีไปด้วยความจำเป็นมีเหตุผลสมควรมิได้ประวิงคดี จึงอนุญาตให้เลื่อนการสืบพยานโจทก์ได้
คดีที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดีแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีพยานสืบ จึงพิพากษายกฟ้องนั้น คำสั่งที่ไม่ให้เลื่อนคดีนี้ ศาลหาได้มีโอกาสฟังคำพยานหลักฐานข้อเท็จจริงแห่งคดีนั้น เช่นนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2503 มาตรา 10 หาได้กำหนดห้ามไว้ไม่ คู่ความจึงอุทธรณ์ได้
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องต่อศาลแขวงขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 138, 139, 326, 364, 393 และ 59 ศาลไต่สวนมูลฟ้องและสั่งประทับฟ้องมาตรา 136, 326, 393 ส่วนความผิดตามมาตรา 138, 364โจทก์มิใช่ผู้เสียหายให้ยกฟ้อง ส่วนมาตรา 139 อัตราโทษเกินอำนาจของศาลแขวงพิจารณา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า คดีโจทก์มีมูลตามมาตรา 138, 364ให้ประทับฟ้องไว้ดำเนินคดีต่อไป
จำเลยให้การปฏิเสธ
วันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก คือ วันที่ 1 ตุลาคม พอถึงวันนัดโจทก์ขอเลื่อนอ้างเหตุว่า ทนายโจทก์ไปจังหวัดพระนคร หลักฐานในการดำเนินคดีได้มอบไว้กับทนายหมด และขณะนี้โจทก์ต้องโทษจำคุกอยู่ จึงขอเลื่อนการพิจารณาไป 2 เดือน ศาลอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์วันที่ 15 เดือนเดียวกัน วันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งที่ 2 โจทก์ขอเลื่อนอีกโดยอ้างว่าทนายความคนเก่าป่วยและกำลังให้ญาติติดต่อกับทนายใหม่อยู่ ตัวโจทก์เองได้ป่วยเป็นโรคริดสีดวงตาและปวดศีรษะมากพยานคู่วันนี้ก็มาไม่ครบ จำเลยค้านและแถลงว่าการเลื่อนคดีของโจทก์เป็นการประวิงคดี ศาลจึงมีคำสั่งให้สืบพยานโจทก์ โจทก์แถลงต่อศาลยืนยันขอเลื่อนพร้อมกับมีหนังสือของทนายประกอบการแถลง ทั้งประสงค์จะให้ทนายซักถามพยานให้ด้วย
ศาลชั้นต้นตัดสินว่า เมื่อโจทก์ไม่มีพยานมาเบิกความเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงตามคำกล่าวอ้างตามฟ้องว่าจำเลยได้กระทำผิด จึงพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์มีเหตุผลและความจำเป็นอันสมควร จึงให้เลื่อนคดี พิพากษาให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาไปตามรูปคดี
จำเลยฎีกาว่า คำสั่งที่ศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี ถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาและศาลได้พิพากษายกฟ้องคดี ดังนี้ ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196
การเลื่อนคดีมีเหตุอันสมควรอนุญาตหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาลเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2503 มาตรา 10
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 211 บัญญัติว่า”เมื่อมีอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาในประเด็นสำคัญและคัดค้านคำสั่งระหว่างพิจารณาด้วย ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาโดยคำพิพากษาอันเดียวกันก็ได้” ที่บัญญัติไว้เช่นนี้ก็เพื่อมิให้คำชี้ขาดของคำสั่งระหว่างพิจารณากระทบกระเทือนคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอุทธรณ์มาพร้อมกันแต่คดีนี้คำพิพากษาของศาลแขวงถึงที่สุดไปแล้วโดยยกฟ้อง ถ้าจะต้องถือปฏิบัติตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ ก็จะกลายเป็นว่าคำสั่งนี้แก้ไขคำพิพากษาของศาลซึ่งเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว และจะต้องหยิบยกขึ้นมาพิจารณาพิพากษาคดีกันใหม่ ซึ่งเป็นการขัดกับวัตถุประสงค์ของกฎหมาย
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแขวงเมื่อมีคำพิพากษาแล้ว และได้อุทธรณ์คำสั่งที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาพร้อมกับอุทธรณ์คำพิพากษาด้วย จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196
บทมาตราตามที่จำเลยฎีกาขึ้นมานั้น ห้ามอุทธรณ์คำพิพากษาศาลแขวงในปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนคำพิพากษาอันเกี่ยวกับข้อเท็จจริงนั้น ศาลย่อมพิจารณาจากคำพยานหลักฐานแล้วจึงตัดสินชี้ขาด กล่าวคือคู่ความมีโอกาสสืบพยานและศาลได้มีโอกาสพิจารณาคำพยานซึ่งคู่ความนำสืบตามประเด็นเสร็จแล้ว จึงวินิจฉัยว่าควรเชื่อคำพยานนั้นหรือไม่เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลมีโอกาสได้พิจารณาไตร่ตรองคำพยานหลักฐานโดยรอบคอบแล้วจึงพิพากษา กฎหมายจึงห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์คำพิพากษาในปัญหาข้อเท็จจริง ฉะนั้น จึงเป็นการห้ามอุทธรณ์เฉพาะคำพิพากษาเท่านั้น แต่ในเรื่องคำสั่งของศาลซึ่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี อันมีผลเสมือนไม่ให้คู่ความนำสืบพยานนั้น ศาลไม่มีโอกาสฟังพยานหลักฐานในประเด็นเนื้อหาแห่งคดีนั้นเลย คำสั่งเช่นนี้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงหาได้กำหนดห้ามไว้ไม่คู่ความจึงอุทธรณ์ได้
ฎีกาของจำเลยอันเกี่ยวกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 211 ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องก็เพราะเหตุศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี โจทก์จึงไม่มีพยานสืบ ศาลถือว่าไม่มีพยาน จึงพิพากษายกฟ้อง โจทก์ได้อุทธรณ์คำพิพากษาอยู่ คดีจึงยังไม่เสร็จเด็ดขาด เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า การขอเลื่อนคดีนั้นมีเหตุผลสมควรและอนุญาตให้เลื่อน ทั้งได้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเสีย คำพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งตัดสินไป ก็ต้องยกเลิกเพิกถอนไปด้วย ไม่ใช่เป็นเรื่องการแก้ไขคำพิพากษาของศาลซึ่งเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว ฎีกาข้อนี้จึงตกไป