คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4477/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาว่าทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสามีภริยาเป็นประเภทใดต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้ในขณะที่ได้มา จำเลยได้รับที่ดินพิพาทโดยทางพินัยกรรมในระหว่างสมรสและไม่มีการระบุว่าให้เป็นสินสมรหรือสินส่วนตัวเมื่อปีพ.ศ 2509 ในขณะที่ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยตามบรรพ 5 เดิม มาตรา 1466 วรรคหนึ่ง แม้ต่อมาจะได้มีการแบ่งแยกที่ดินและออกโฉนดใหม่เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ตรวจ ชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ใช้บังคับแล้ว ก็เป็นเรื่องการแบ่งทรัพย์สินในระหว่างผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมไม่ทำให้ที่ดินพิพาทหลังจากแบ่งแยกโฉนดแล้วเปลี่ยนเป็นสินส่วนตัวตามมาตรา 1471(3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์อยู่กินฉันสามีภริยาและจดทะเบียนสมรสกับจำเลยเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2497 โดยขณะสมรสทั้งสองฝ่ายไม่มีสินเดิมในระหว่างสมรสคือเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2510 จำเลยได้รับทรัพย์สินคือที่ดินโฉนดเลขที่ 1433 กึ่งหนึ่งของเนื้อที่ 26 ไร่ 2 งาน 67 ตารางวา โดยจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับเจ้าของเดิม ต่อมาที่ดินถูกเวนคืนบางส่วนคงเหลือเป็นของจำเลย 9 ไร่ 1 งาน 43 ตารางวา ครั้นวันที่25 พฤษภาคม 2520 จำเลยได้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวและออกโฉนดใหม่แยกจากโฉนดเดิมเป็นโฉนดเลขที่ 3719 และวันที่ 30 ธันวาคม 2530 โจทก์และจำเลยได้จดทะเบียนยกกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่บุตร 5 คน คนละ 400 ส่วนใน 3743 ส่วน คงเหลือที่ดิน4 ไร่ 1 งาน 43 ตารางวา โจทก์และจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาตั้งแต่ปี 2525 ถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกินกว่า 3 ปีแล้วโจทก์ขอหย่าขาดจากจำเลยและขอแบ่งสินสมรส แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน และให้แบ่งสินสมรสคือที่ดินโฉนดเลขที่ 3719 เฉพาะส่วนที่เป็นของจำเลยให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งเป็นเนื้อที่ 2 ไร่71.5 ตารางวา โดยให้โจทก์และจำเลยประมูลกันเองหากตกลงราคาประมูลกันไม่ได้ให้ยึดที่ดินแปลงดังกล่าวเฉพาะส่วนที่เป็นชื่อของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินที่ได้แบ่งให้แก่โจทก์และจำเลยคนละกึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การว่า จำเลยอยู่กินฉันสามีภรรยาและจดทะเบียนสมรสกับโจทก์เมื่อวันที่26 พฤศจิกายน 2497 แต่เมื่อประมาณปี 2500 โจทก์กับจำเลยได้แยกอยู่ เนื่องจากจำเลยไม่สามารถทนความประพฤติของโจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2509 นางวอน เปลี่ยนสี ยายจำเลยได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินตามฟ้องให้แก่จำเลยเพียงผู้เดียว ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงไม่ใช่สินสมรสโจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่งขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลย คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกัน เมื่อปี 2497 นางวอน เปลี่ยนสี ซึ่งเป็นยายของจำเลยได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินตามฟ้องให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2509 โดยมิได้ระบุพินัยกรรมระบุไว้ว่าให้เป็นสินส่วนตัว ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาขณะใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม การพิจารณาว่าเป็นทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาประเภทใดต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้ในขณะที่ได้มา ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม มาตรา 1466 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าสินสมรสได้แก่ทรัพย์สินทั้งหมดที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรสนอกจากที่ระบุไว้ว่าเป็นสินเดิมหรือสินส่วนตัวตามมาตรา 1463 หรือ 1464 และ มาตรา 1464 สินส่วนตัวได้แก่……(3) ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างเป็นสามีภริยาโดยทางพินัยกรรมหรือยกให้โดยเสน่หา เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้นั้นได้แสดงไว้เป็นสินส่วนตัวดังนั้น เมื่อจำเลยได้รับที่ดินพิพาทโดยทางพินัยกรรมในระหว่างสมรสและไม่มีการระบุว่าให้เป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัว ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม มาตรา 1466 วรรคหนึ่ง แม้ต่อมาจะได้มีการแบ่งแยกที่ดินและออกโฉนดใหม่จากโฉนดเดิมเป็นโฉนดเลขที่ 3719 เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ใช้บังคับแล้วก็เป็นเรื่องการแบ่งทรัพย์สินในระหว่างผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม ไม่ทำให้ที่ดินพิพาทหลังจากแบ่งแยกโฉนดแล้วเปลี่ยนเป็นสินส่วนตัวตามมาตรา 1471(3) โดยยังคงถือว่าเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยอยู่นั่นเอง โจทก์จึงมีสิทธิขอแบ่งที่ดินพิพาทตามฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 3719 เฉพาะส่วนที่เป็นของจำเลยให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง เป็นเนื้อที่ 2 ไร่ 71.5 ตารางวา โดยให้โจทก์จำเลยแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวกันเองก่อนเมื่อไม่สามารถแบ่งได้ ให้ประมูลระหว่างกันเอง ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วนแห่งความเป็นเจ้าของรวม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share