คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15364-15365/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้คดีนี้และคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1692/2544 ของศาลชั้นต้น จะเป็นคดีที่มีมูลละเมิดอย่างเดียวกัน จำเลยที่ 3 กับโจทก์ต่างเป็นคู่ความรายเดียวกัน แต่การที่จำเลยที่ 3 รับจำเลยคนอื่นๆ ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1692/2544 กับการที่จำเลยที่ 3 รับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าร่วมเดินรถรับส่งผู้โดยสารเป็นคดีนี้เป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน โดยร่วมกับบุคคลต่างกัน หาใช่บุคคลผู้เป็นคู่ความรายเดิมไม่ ข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ที่ว่า จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดในคดีนี้ จึงเป็นเรื่องที่เกิดต่างกรรมต่างวาระจากมูลละเมิดในคดีดังกล่าว ทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ได้ ฟ้องโจทก์ทั้งสองคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1692/2544 ของศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
การที่จำเลยทั้งสามส่งสำเนาคำฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2132/2551 ของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกา โดยในคำฟ้องระบุว่า พนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นโจทก์ฟ้อง ช. ในความผิดฐานเบิกความเท็จในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 384/2546, 386/2546, 389/2546 ของศาลชั้นต้น นั้น ข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าว จำเลยทั้งสามเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นการนำพยานเอกสารเข้าสู่สำนวนความโดยไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 ทั้งโจทก์ไม่มีโอกาสซักค้านเกี่ยวกับพยานเอกสารดังกล่าวนี้ ข้อเท็จจริงตามเอกสารนั้นจึงรับฟังไม่ได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกจำเลยที่ 1 ของแต่ละสำนวนว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ให้เรียกจำเลยที่ 2 ทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ 3
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสามหยุดกระทำการเดินรถประจำทางวิ่งแย่งรับผู้โดยสารในเขตเส้นทางสัมปทานของโจทก์โดยพลัน และหรือพฤติกรรมการกระทำใด ๆ อันถือเป็นการละเมิดต่อโจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตรารายละ 10,000 บาท ต่อวัน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะหยุดการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์
จำเลยทั้งสามให้การทั้งสองสำนวนเป็นใจความว่า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสามกระทำการจอดรถรับส่งคนโดยสารในเส้นทางที่โจทก์ได้รับอนุญาต เว้นแต่จุดจอดรถที่จำเลยทั้งสามได้รับอนุญาต กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์คนละ 200 บาท ต่อวัน นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 มกราคม 2546) จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์คนละ 200 บาท ต่อวัน นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะหยุดกระทำละเมิดต่อโจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์แต่ละสำนวนร่วมกัน โดยกำหนดค่าทนายความให้สำนวนละ 7,500 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับจำเลยที่ 3 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแต่ละสำนวนแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ 3,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ เป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1692/2544 ของศาลชั้นต้น หรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่าจำเลยทั้งสามจอดรถโดยสารรับส่งคนโดยสารตามรายทางนอกจุดที่ได้รับอนุญาตให้จอดรถ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เนื่องจากผู้โดยสารของโจทก์ลดลง เป็นเหตุให้โจทก์ขาดรายได้ เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ส่วนฟ้องโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1692/2544 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่ในคดีดังกล่าวนำรถโดยสารวิ่งรับส่งคนโดยสารมีจำนวนเที่ยวและจำนวนรถเกินกว่าที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานขนส่งจังหวัดอุบลราชธานี และแย่งรับส่งคนโดยสารจากโจทก์เป็นเหตุให้รายได้โจทก์ลดลง เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ เห็นว่า แม้คดีนี้และคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1692/2544 ของศาลชั้นต้น จะเป็นคดีที่มีมูลละเมิดอย่างเดียวกัน จำเลยที่ 3 กับโจทก์ ต่างเป็นคู่ความรายเดียวกัน แต่การที่จำเลยที่ 3 รับจำเลยคนอื่นๆ ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1692/2544 กับการที่จำเลยที่ 3 รับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าร่วมเดินรถรับส่งผู้โดยสารเป็นคดีนี้เป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน โดยร่วมกับบุคคลต่างกัน หาใช่บุคคลผู้เป็นคู่ความรายเดิมไม่ ข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ที่ว่าจำเลยทั้งสามกระทำละเมิดในคดีนี้ จึงเป็นเรื่องที่เกิดต่างกรรมต่างวาระจากมูลละเมิดในคดีดังกล่าว ทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ได้ ฟ้องโจทก์ทั้งสองคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1692/2544 ของศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) และเมื่อคดีนี้ปรากฏว่าทั้งโจทก์และจำเลยที่ 3 ต่างนำพยานหลักฐานของตนเข้าสืบจนเสร็จสิ้นกระแสความแล้ว เพื่อไม่ให้คดีต้องล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัยเสียให้เสร็จสิ้น โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาพิพากษาใหม่ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ส่วนการที่จำเลยทั้งสามส่งสำเนาคำฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2132/2551 ของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกา โดยในคำฟ้องระบุว่า พนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นโจทก์ฟ้องนายชาติชายในความผิดฐานเบิกความเท็จในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 384, 386, 389/2546 ของศาลชั้นต้น นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าว จำเลยทั้งสามเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา เป็นการนำพยานเอกสารเข้าสู่สำนวนความโดยไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 ทั้งโจทก์ไม่มีโอกาสซักค้านเกี่ยวกับพยานเอกสารดังกล่าวนี้ ข้อเท็จจริงตามเอกสารจึงรับฟังไม่ได้ ฉะนั้น จึงต้องฟังตามคำเบิกความของนายชาติชายว่า จำเลยที่ 3 ไม่มีสิทธิจอดรถโดยสารตามจุดที่พิพาทในคดีนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าร่วมประกอบการขนส่งกับจำเลยที่ 3 ดังนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีสิทธิจอดรถรับส่งผู้โดยสารนอกจากจุดที่พิพาท การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จอดรถรับส่งผู้โดยสารนอกจุดที่ได้รับอนุญาต จำเลยทั้งสามจึงกระทำละเมิดต่อโจทก์ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ห้ามจำเลยที่ 3 จอดรถรับส่งคนโดยสารในเส้นทางที่โจทก์ได้รับอนุญาต เว้นแต่จุดจอดรถที่จำเลยที่ 3 ได้รับอนุญาต กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 200 บาท ต่อวัน นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 มกราคม 2546) และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 200 บาท ต่อวัน นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะหยุดกระทำละเมิดต่อโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share