คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3572/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยยุบหน่วยงานที่โจทก์ประจำอยู่เพราะมีความจำเป็นเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของจำเลยนั้น จำเลยย่อมมีอำนาจโดยชอบที่จะจัดให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างเข้าทำงานในตำแหน่งใหม่ที่เหมาะสมต่อไป โจทก์จะไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งโดยอ้างเหตุว่าเงินเดือนต่ำกว่าที่เคยได้รับหาได้ไม่เพราะเป็นคนละกรณีไม่เกี่ยวเนื่องกัน ดังนั้นการที่โจทก์ไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างอันเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด ไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย จำเลยค้างจ่ายค่าจ้าง จึงขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์จงใจขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอันชอบด้วยกฎหมายถือว่าเป็นการกระทำผิดอันร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยขอให้พิพากษายกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ส่วนค่าจ้างที่ค้างจำเลยมิได้ให้การโต้แย้งไว้จึงต้องจ่ายให้แก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้างให้แก่โจทก์ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก

ผู้พิพากษาสมทบนายหนึ่งทำความเห็นแย้งว่า จำเลยสั่งย้ายโจทก์เป็นการลดรายได้ของโจทก์ลง เป็นคำสั่งที่มิชอบ การยุบแผนกเท่ากับเป็นการยุบตำแหน่งของโจทก์ ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง จึงควรพิพากษาให้โจทก์ได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เดิมโจทก์เป็นพนักงานขายประกันของจำเลย ต่อมาจำเลยมีความจำเป็นต้องยุบแผนกประกันประเภทบุคคลซึ่งโจทก์ทำงานอยู่และได้สั่งให้โจทก์ไปทำงานในแผนกอนุรักษ์กรมธรรม์ โจทก์ไม่ปฏิบัติตามโดยไม่ยอมทำงานในตำแหน่งที่จำเลยสั่งให้ทำ เห็นว่าการที่จำเลยต้องยุบหน่วยงานที่โจทก์ประจำอยู่เดิมเพราะมีความจำเป็นเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของจำเลย จำเลยย่อมมีอำนาจโดยชอบที่จะจัดให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างเข้าทำงานในตำแหน่งและหน่วยงานใหม่ที่เหมาะสมต่อไปเพื่อให้กิจการของจำเลยดำเนินไปโดยมีประสิทธิภาพ โจทก์จะไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยโดยอ้างเหตุว่าตำแหน่ง เงินเดือนและผลประโยชน์ที่พึงจะได้จากการทำงานในตำแหน่งใหม่ต่ำกว่าที่เคยได้รับหาได้ไม่ เพราะเป็นคนละกรณีไม่เกี่ยวเนื่องกัน การที่โจทก์ไม่ยอมเข้าปฏิบัติงานตามคำสั่งของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างอันเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯข้อ 47(3) และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583

พิพากษายืน

Share