แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ตามระเบียบของจำเลย โจทก์ที่ 1 มีหน้าที่สอบถามผู้ที่ขอใช้กุญแจกลางว่าเป็นผู้เช่าที่มาพักจริงหรือไม่ การที่โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์ว่าตนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบว่าผู้ที่ขอกุญแจกลางเป็นผู้เช่า จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 54
จำเลยต่อสู้เรื่องความเสียหายต่อชื่อเสียงเป็นประเด็นไว้ในคำให้การแล้วแม้จำเลยจะนำสืบไม่ชัดแจ้งว่าได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงอย่างไร แต่ข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม เมื่อทรัพย์สินของผู้ที่มาพักในโรงแรมสูญหายไปเพราะความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานของโรงแรม จึงเป็นที่เห็นได้ชัดว่าจำเลยย่อมได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง
เมื่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยมิได้กำหนดไว้ในเรื่องการสอบสวนว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยเรียกโจทก์ทั้งสองมาสอบถามและให้เขียนรายงานกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถือได้ว่ามีการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วเมื่อได้ความว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของโจทก์ที่ 1 ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายร้ายแรง การที่จำเลยให้โจทก์ที่ 1 ออกจากงานจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
ศาลฎีกาสั่งให้รับฟ้องโจทก์ข้อที่กล่าวหาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมเพราะจำเลยมิได้สอบสวนตามระเบียบเมื่อได้ความว่าจำเลยได้สอบสวนตามระเบียบแล้วแต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 ประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหายจึงเป็นกรณีจำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 โดยไม่มีความผิดและเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 2 และศาลแรงงานกลางมีอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 49 ที่จะกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยใช้แก่โจทก์ที่ 2 ได้
ย่อยาว
คดีนี้ชั้นแรกศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับฟ้อง ศาลฎีกาพิพากษาแก้ให้รับฟ้องไว้เฉพาะข้อที่กล่าวหาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้สอบสวนเสียก่อนตามระเบียบ โดยโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยโดยโจทก์ที่ ๑ เป็นผู้ช่วยแม่บ้าน โจทก์ที่ ๒ เป็นพนักงานสำรอง โจทก์ทั้งสองซึ่งระมัดระวังตามสมควรแล้วได้เปิดประตูห้องพักในโรงแรมให้ชายคนหนึ่ง เป็นการช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่ลูกค้าตามหน้าที่ เพราะเชื่อโดยสุจริตว่าชายผู้นั้นพักอยู่ในห้องนั้นแต่เข้าห้องไม่ได้ ต่อมาบุคคลซึ่งพักอยู่ในห้องนั้นอ้างว่าถูกคนร้ายลักทรัพย์ในห้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยยินยอมชดใช้ให้ แล้วจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยกล่าวหาว่าโจทก์กระทำการดังกล่าวด้วยความประมาทเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายโดยมิได้สอบสวนความผิดก่อนตามระเบียบ และมิได้จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งสอง และทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายขาดรายได้ ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยรับโจทก์ทั้งสองเข้าทำงานต่อไปในอัตราและตำแหน่งหน้าที่เดิม หรือให้จ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ทำการสอบสวนแล้วปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองกระทำการโดยประมาทเลินเล่อ ฝ่าฝืนคำสั่งข้อบังคับการทำงานเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงโดยทำให้คนร้ายลักทรัพย์ของแขกที่มาพัก จำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แขกแล้ว และจำเลยได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงอีกด้วยการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองจึงเป็นธรรมถูกต้องตามกฎหมายแล้วขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ ๑ ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ ๑โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ส่วนโจทก์ที่ ๒ ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย และการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ที่ ๒ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายให้โจทก์ที่ ๒ พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องโจทก์ที่ ๑
โจทก์ที่ ๑ และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัย อุทธรณ์ของโจทก์ที่ ๑ ว่าการกระทำของโจทก์ที่ ๑ ไม่เป็นการประมาทเลินเล่อ เพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบว่าผู้ที่ขอกุญแจเป็นผู้เช่าหรือไม่ ระเบียบปฏิบัติของจำเลยจะตรวจสอบต่อเมื่อเกิดความไม่แน่ใจว่าเป็นผู้เช่าจริงหรือไม่นั้น ปัญหานี้ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า ตามระเบียบของจำเลย โจทก์ที่ ๑ซึ่งเป็นผู้ช่วยแม่บ้านมีหน้าที่จะต้องสอบถามผู้ที่ขอใช้กุญแจกลางว่าเป็นผู้เช่าที่มาพักจริงหรือไม่ จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงซึ่งศาลแรงงานกลางรับฟังมา ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา ๕๔ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ในเรื่องความเสียหายต่อชื่อเสียง จำเลยได้ต่อสู้เป็นประเด็นไว้ในคำให้การแล้ว แม้จำเลยจะไม่นำสืบโดยชัดแจ้งว่าได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงอย่างไรแต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม เมื่อทรัพย์สินของผู้เช่าที่มาพักในโรงแรมของจำเลยต้องสูญหายไปเพราะความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ที่ ๑ ซึ่งเป็นพนักงานของโรงแรม ย่อมเป็นที่เห็นได้ชัดว่าจำเลยย่อมได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงทำให้ผู้ที่มาพักขาดความเชื่อถือในความปลอดภัยต่อทรัพย์สินอันกระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์และรายได้ของจำเลย ความเสียหายดังกล่าวศาลย่อมวินิจฉัยประกอบคดีเพื่อฟังว่าจำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงได้
ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยมิได้กำหนดไว้ในเรื่องการสอบสวนว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยเรียกโจทก์ทั้งสองมาสอบถามและให้เขียนรายงานถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามที่โจทก์ทั้งสองมีส่วนเกี่ยวข้อง ถือได้ว่ามีการสอบสวนถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของโจทก์แล้ว เมื่อได้ความว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความประมาทของโจทก์ที่ ๑ ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงการที่จำเลยให้โจทก์ที่ ๑ ออกจากงานจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
และวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยว่า ข้อหาตามโจทก์ฟ้องที่ศาลฎีกาสั่งให้รับฟ้องคือ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมเพราะจำเลยมิได้สอบสวนตามระเบียบเมื่อได้ความว่าจำเลยได้สอบสวนเรื่องนี้ตามระเบียบแล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ ๒ ประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหายแต่อย่างใด จึงเป็นกรณีที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ ๒ โดยไม่มีความผิด และเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ ๒ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๔๖ (ฉบับที่ ๖) ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๒๑ ข้อ ๒ และศาลแรงงานกลางมีอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา ๔๙ ที่จะกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยใช้แก่โจทก์ที่ ๒ ได้
พิพากษายืน