คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3544/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้การที่ ร. ให้ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรส โดยเสน่หาแก่จำเลยโดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476(5) และ 1479 และโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการให้ดังกล่าวภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้เรื่องที่ ร. จดทะเบียนการให้ที่ดินแก่จำเลยหรือภายใน 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียนการให้ตาม มาตรา 1480 ได้ก็ตาม แต่โจทก์ยังมิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนการให้ดังนี้ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยอยู่และจำเลยครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เนื่องจากได้รับยกให้จาก ร. จำเลยจึงไม่มีหน้าที่แบ่งสินสมรสดังกล่าวของ ร. ให้โจทก์ การทำพินัยกรรม มิใช่เป็นการจัดการสินสมรสที่จะต้องได้รับความยินยอมคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 วรรคหนึ่ง แม้ ร.มีสิทธิทำพินัยกรรมยกบ้านพิพาทที่เป็นสินสมรสระหว่างร.กับโจทก์ที่ร.มีกรรมสิทธิ์อยู่ครึ่งหนึ่งให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 วรรคสอง ได้ก็ตาม แต่ ร. ไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ในบ้านส่วนของโจทก์อีกครึ่งหนึ่งให้แก่จำเลยได้ การที่ ร. ทำพินัยกรรมยกบ้านสินสมรสทั้งหลังให้แก่จำเลยจึงไม่มีผลผูกพันส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของมีสิทธิฟ้องติดตามเอาคืนทรัพย์ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้ โดยไม่มีกำหนดเวลาการใช้สิทธิ เว้นแต่จะถูกจำกัดด้วยอายุความได้สิทธิ โดยโจทก์ไม่ต้องฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรม ของ ร. ก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเรียน วงศ์สมบูรณ์ โจทก์กับนายเรียนได้จดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา ต่อมานายเรียนได้ถึงแก่ความตายโดยยังมิได้ทำการแบ่งสินสมร จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุตรและเป็นทายาทของนายเรียนเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าวไว้ทั้งหมด จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่แบ่งปันสินสมรสให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง โจทก์ได้ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันนำสินสมรสตามฟ้องมาแบ่งให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งหากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงแทนเจตนาของจำเลยทั้งสองหากไม่สามารถแบ่งปันทรัพย์สินได้ให้เอาทรัพย์สินดังกล่าวออกประมูลระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง และหากไม่สามารถประมูลกันระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ ให้เอาทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองคนละครึ่ง หากไม่สามารถนำสินสมรสมาแบ่งให้แก่โจทก์ได้ดังกล่าวข้างต้นให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระราคาทรัพย์ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 2,061,275 บาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินทั้งสองแปลงตามฟ้อง นายเรียนได้ยกให้จำเลยทั้งสองแล้วในระหว่างโจทก์กับนายเรียนยังเป็นสามีภริยากัน โดยโจทก์ทราบดีแล้ว ถือว่าได้ให้สัตยาบันแล้ว สำหรับบ้านเลขที่ 889 นั้น นายเรียนได้ทำพินัยกรรมยกให้จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2536 โจทก์ทราบดีและเคยคัดค้านแต่ไม่ได้ฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ ถือว่าโจทก์ไม่ติดใจคัดค้านและให้สัตยาบันแล้วราคาทรัพย์สินคิดตามเป็นจริง ที่ดินทั้งสองแปลงซึ่งปัจจุบันออกเป็นโฉนดที่ดินแล้วทั้งสองแปลงหักส่วนที่จำเลยที่ 2 โอนขายให้แก่บุคคลภายนอกไป 14 ไร่ คงเหลือเพียง 107 ไร่ 3 งาน 42 ตารางวา มีราคารวม 1,073,420 บาท บ้านมีราคา 500,000 บาท จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียง 786,710 บาท เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 แบ่งบ้านเลขที่ 889 หมู่ 1 ถนนพัฒนา ตำบลพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมเฟอร์นิเจอร์ประเภทตู้ โต๊ะรับแขก อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ติดตั้งภายในบ้านให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งและให้จำเลยที่ 2 แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 2680 และ 2681 ตำบลเข้าไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรีให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 หากไม่สามารถแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวได้ ให้เอาทรัพย์สินดังกล่าวออกประมูลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และกับจำเลยที่ 2 หากไม่สามารถประมูลกันระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ให้เอาทรัพย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และกับจำเลยที่ 2 คนละครึ่ง คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์กับนายเรียน วงศ์สมบูรณ์ อยู่กินเป็นสามีภริยากันมาก่อน ต่อมาจึงได้จดทะเบียนสมรสกันในวันที่ 27 พฤษภาคม 2526 แต่ได้จดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2535 ที่ดินพิพาท 2 แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 6 และ 7 ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี และบ้านเลขที่ 889 หมู่ 1 ถนนพัฒนา ตำบลพนมสารคาม อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายเรียน แต่มีชื่อนายเรียนเป็นเจ้าของที่ดินและเจ้าบ้านเพียงผู้เดียว ต่อมาวันที่8 เมษายน 2534 นายเรียนได้จดทะเบียนการให้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง โดยเสน่หาแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรอันเกิดจากภริยาเดิมของนายเรียนโดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของโจทก์ แล้วจำเลยที่ 2 ได้แบ่งขายที่ดินบางส่วนของที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ให้แก่นายพิศิษฐ์ พันธุ์กิติยะ ในวันที่ 9 เมษายน 2535 โดยให้ถือกรรมสิทธิ์รวม ต่อมาทางราชการได้ออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 26080 และ 26081 ครั้นถึงวันที่ 11 ตุลาคม 2536 นายเรียนถึงแก่ความตาย ก่อนถึงแก่ความตายนายเรียนได้ทำพินัยกรรมฝ่ายเมืองยกบ้านเลขที่ 889 ให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรอันเกิดจากภริยาเดิมของนายเรียน และจำเลยที่ 1 ได้รับโอนมรดกมาเป็นของจำเลยที่ 1 แล้วที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 2 แบ่งที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งโดยไม่ต้องฟ้องขอให้เพิกถอนการให้ที่ดินระหว่างนายเรียนกับจำเลยที่ 2 ก่อนนั้น เห็นว่า การที่นายเรียนให้ที่ดินทั้ง 2 แปลงโดยเสน่หาแก่จำเลยที่ 2เป็นกรณีที่นายเรียนจัดการสินสมรสโดยปกติต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476(5) และ 1479 เมื่อนายเรียนให้ที่ดินพพาททั้ง 2 แปลง แก่จำเลยที่ 2 โดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการให้ดังกล่าวภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้เรื่องที่นายเรียนจดทะเบียนการให้ที่ดินแก่จำเลยที่ 2 หรือภายใน 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียนการให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนการให้ ที่ดินทั้ง 2 แปลง จึงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินทั้ง 2 แปลงมิใช่เป็นการครอบครองในฐานะทายาทของนายเรียนที่จะต้องมีหน้าที่แบ่งสินสมรสให้โจทก์แทนนายเรียน แต่จำเลยที่ 2 ครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เนื่องจากได้รับยกให้จากนายเรียน จำเลยที่ 2 จึงไม่มีหน้าที่แบ่งสินสมรสของนายเรียนให้โจทก์
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์มิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมของนายเรียนที่ยกบ้านเลขที่ 889 ให้แก่จำเลยที่ 1 ภายใน 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า แม้บ้านเลขที่ 889 จะเป็นสินสมรสระหว่างนายเรียนกับโจทก์แต่ที่นายเรียนทำพินัยกรรมยกบ้านเลขที่ 889 ให้แก่จำเลยที่ 1 มิใช่เป็นการจัดการสินสมรสที่นายเรียนจะต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นภริยา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 วรรคหนึ่ง นายเรียนจึงมีสิทธิทำพินัยกรรมยกบ้านเลขที่ 889 ที่นายเรียนมีกรรมสิทธิ์อยู่ครึ่งหนึ่งให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ตามมาตรา 1476 วรรคสองแต่นายเรียนไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ในบ้านเลขที่ 889 อีกครึ่งหนึ่งของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ เพราะบ้านพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ครึ่งหนึ่ง ที่นายเรียนทำพินัยกรรมยกบ้านเลขที่ 889 ทั้งหลังให้แก่จำเลยที่ 1 จึงไม่มีผลผูกพันส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของมีสิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้ โดยไม่มีกำหนดเวลาการใช้สิทธิเว้นแต่จะถูกจำกัดด้วยอายุความได้สิทธิ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ถูกจำกัดด้วยอายุความได้สิทธิ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอแบ่งบ้านเลขที่ 889 อันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายเรียนได้ โดยไม่ต้องฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมของนายเรียน
พิพากษายืน

Share