คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 673/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้แรงงานจังหวัดเป็นผู้ตีความนั้น มิได้มีข้อห้ามมิให้นำข้อตกลงดังกล่าวมาฟ้องต่อศาล โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาในปัญหาเกี่ยวกับการตีความข้อตกลงซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายได้
เมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกำหนดว่า การปรับเงินเดือนให้ถือเกณฑ์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในชั้นที่สูงกว่านั้น หมายความว่าให้ปรับอัตราเงินเดือนเดิมของลูกจ้างให้เท่ากับอัตราเงินเดือนในชั้นที่สูงกว่าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเท่านั้น หาใช่ว่าจะต้องนำอัตราเงินเดือนมากำหนดว่าอยู่ในขั้นที่เท่าใด แล้วไปเทียบให้ตรงกับขั้นที่กำหนดแล้วปรับให้สูงขึ้นอีก 1 ขั้นในบัญชีเงินเดือนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยประกาศใช้เงินเดือนของโจทก์ในอัตราเงินเดือนข้าราชการ (บัญชี ๒) ต่อมาจำเลยทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ให้การปรับเงินเดือนถือเกณฑ์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และให้ปรับเท่ากับเงินเดือนพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขั้นที่สูงกว่า แล้วจำเลยประกาศปรับเงินเดือนไม่เป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง คือ จำเลยนำเงินเดือนเดิมของโจทก์ไปเข้าในบัญชีเงินเดือนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในเงินที่สูงกว่า มิใช่ในขั้นที่สูงกว่า ทำให้โจทก์ทุกคนถูกลดขั้นเงินเดือน ๖ ขั้นเป็นอย่างน้อย โจทก์ได้ให้สหภาพแรงงาน ฯ มีหนังสือให้จำเลยปฏิบัติให้ถูกต้อง แต่จำเลยไม่ปฏิบัติ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยปรับเงินเดือนโจทก์ทุกคนตามบัญชีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
จำเลยให้การว่า การปรับเงินเดือนของจำเลยถูกต้อง ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เมื่อเกิดปัญหาการตีความเกี่ยวกับข้อตกลงสภาพการจ้างขึ้นต้องให้แรงงานจังหวัดเป็นผู้ตีความ และเมื่อแรงงานจังหวัดมีความเห็นเช่นเดียวกับจำเลย จึงต้องยุติตามข้อตกลง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยแก้อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและอุทธรณ์โจทก์เป็นปัญหาข้อเท็จจริงนั้น เห็นว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ให้แรงงานจังหวัดเป็นผู้ตีความนั้น ตามข้อตกลงและกฎหมายมิได้มีข้อห้ามมิให้นำคดีมาฟ้องต่อศาล โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง และปัญหาเกี่ยวกับการตีความข้อตกลงเป็นปัญหาข้อกฎหมาย
โครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนลูกจ้างของจำเลยไม่ได้กำหนดว่ามีกี่ระดับ ระดับใดมีกี่ขั้น หรือมีขั้นเงินเดือนทั้งหมดรวมกันกี่ขั้น แตกต่างกับบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือน เมื่อการกำหนดอัตราเงินเดือนตามประกาศของจำเลย เรื่องปรับปรุงอัตราเงินเดือน ที่ให้ใช้อัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนหมายเลข ๒ นั้น มีความหมายว่า การกำหนดอัตราเงินเดือนให้ลูกจ้างของจำเลยจะกำหนดให้มีจำนวนเงินในแต่ละอัตราตรงกับจำนวนเงินที่ปรากฏในบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือน หมายเลข ๒ มิใช่กำหนดว่าให้ลูกจ้างของจำเลยคนใดได้รับเงินเดือน ในระดับใด และในขั้นใดในบัญชีอัตราข้าราชการพลเรือนหมายเลข ๒ และเงินเดือนของโจทก์ซึ่งได้ปรับและเพิ่มตามประกาศของจำเลยตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างก็กำหนดว่า โจทก์ได้รับเงินเดือนในอัตราเงินเดือนเท่าใด มิได้กำหนดว่าในขั้นที่เท่าใด ดังนั้น วิธีการของโจทก์ที่นำเอาอัตราเงินเดือนมากำหนดเป็นอัตราเงินเดือนในขั้นที่เท่าใด แล้วไปเทียบกับบัญชีเงินเดือนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจึงไม่ถูกต้อง การปรับและเพิ่มอัตราเงินเดือนของโจทก์ตามประกาศของจำเลยถูกต้องตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้ว
พิพากษายืน

Share