คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7216/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าการที่ น.โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีใบจอง (น.ส.2)ตีใช้หนี้ให้แก่โจทก์ เป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ ป.ที่ดิน พ.ศ.2497มาตรา 8 จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในศาลชั้นต้นจำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคสอง
น.ได้โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีใบจอง (น.ส.2) โดยส่งมอบการครอบครองให้โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ก่อนที่ทางราชการจะออกใบจอง (น.ส.2) ที่ดินพิพาทให้แก่ น. การโอนที่ดินพิพาทระหว่าง น.กับโจทก์จึงไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ ป.ที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 8วรรคสอง ไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 113 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น(พ.ศ.2530)
ปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว การที่ น.โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อตีใช้หนี้ จะขัดต่อ พ.ร.บ.ให้ใช้ ป.ที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 9 หรือไม่นั้น แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247
น.โอนที่ดินพิพาทขณะเป็นที่ดินที่ยังไม่มีใบจอง (น.ส.2) ให้แก่โจทก์โดยการส่งมอบการครอบครองให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา กรณีเป็นเรื่องที่ น.แสดงเจตนาสละการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ การครอบครองของ น.ย่อมสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ.มาตรา 1377 วรรคแรกโจทก์จึงได้สิทธิครอบครอง กรณีมิใช่เป็นการโอนสิทธิครอบครองตามความหมายแห่งพ.ร.บ.ให้ใช้ ป.ที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 9 และการสละการยึดถือครอบครองในลักษณะดังกล่าวไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย การโอนที่ดินพิพาทจึงสมบูรณ์ตามป.พ.พ.มาตรา 1378
แม้ที่ดินพิพาทมีข้อบังคับห้ามโอนภายใน 10 ปี ตามมาตรา 31 แห่งป.ที่ดินก็ตาม แต่ทางราชการเพิ่งออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)สำหรับที่ดินพิพาทให้แก่ น.ภายหลังจากที่ น.ได้สละหรือโอนการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ไปแล้ว การโอนที่ดินพิพาทระหว่าง น.กับโจทก์จึงมิได้กระทำภายในระยะเวลาห้ามโอน ไม่ตกเป็นโมฆะ

Share