คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2948/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในคดีก่อนชั้นบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของ ส. และ น. ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาล โจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นสามีของ น. ยื่นคำร้องว่าโจทก์มิใช่บริวารของ ส. และ น. และอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ศาลชั้นต้นเชื่อว่าโจทก์เป็นบริวารของ ส. และ น. จึงต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145ประกอบด้วย มาตรา 142(1) โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำสั่ง คดีในชั้นบังคับคดีระหว่างจำเลยทั้งสอง (โจทก์ทั้งสองในคดีก่อน)กับโจทก์ในคดีนี้ถึงที่สุด จึงต้องฟังว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้โดยตั้งรูปคดีเช่นเดียวกับที่โจทก์ยื่นคำร้องในคดีก่อนว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ เมื่อโจทก์จำเลยในคดีก่อนกับคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกัน โดยคดีชั้นร้องขอให้บังคับคดีในคดีก่อนเป็นคดีระหว่างจำเลยทั้งสอง (โจทก์ทั้งสองในคดีก่อน)กับโจทก์ในคดีนี้ในฐานะผู้คัดค้าน โจทก์จำเลยย่อมอยู่ในฐานะเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวแล้ว คดีก่อนและคดีนี้ต่างก็มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องกรรมสิทธิ์ที่พิพาทเช่นเดียวกัน จึงถือได้ว่ามีประเด็นอย่างเดียวกัน เมื่อประเด็นในคดีก่อนศาลได้มีคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันอีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 732 ส่วนที่โจทก์ครอบครอง เนื้อที่ประมาณ 82 ตารางวา ตามแผนที่ท้ายคำฟ้องเอกสารหมายเลข 4 เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์หากไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสองเคยเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่นางสวนและนางนงลักษณ์ออกจากที่ดินพิพาท ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 23/2529 ของศาลชั้นต้น ได้มีการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยนางสวนและนางนงลักษณ์ยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท แต่บุคคลทั้งสองไม่ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว จำเลยทั้งสองจึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ และโจทก์มิใช่บริวารของนางสวนและนางนงลักษณ์ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องคดีถึงที่สุด การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้อีกเป็นการฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ การที่โจทก์ไม่ยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท ทำให้จำเลยทั้งสองขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินพิพาทขอให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกจากที่ดินพิพาท โดยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปด้วย ให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยทั้งสองวันละ 1,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้เป็นบริวารของนางสวนและนางนงลักษณ์ คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ผูกพันโจทก์ ฟ้องของโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำจำเลยทั้งสองซื้อที่ดินโดยไม่สุจริตเพราะทราบดีว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์อยู่แล้ว จำเลยไม่ได้รับความเสียหายขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรมจำเลยที่ 1 ทายาทของจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ที่ดินพิพาทในคดีนี้กับที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยทั้งสอง(โจทก์ทั้งสองในคดีก่อน) ขอให้ศาลดำเนินการบังคับคดีเอาแก่นางสงวนหรือสวนและนางนงลักษณ์ (จำเลยทั้งสองในคดีก่อน) และบริวารตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 23/2529 ของศาลชั้นต้น เป็นที่ดินแปลงเดียวกัน โดยคดีดังกล่าวจำเลยทั้งสองเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่นางสงวน ขาวสะอาด และนางนงลักษณ์ ปลัดท้วม กับบริวารให้รื้อถอนเรือนและร้านค้าออกไปจากที่ดินพิพาทคู่ความตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยนางสงวนและนางนงลักษณ์ยอมรื้อถอนเรือนและร้านค้าออกไปจากที่ดินดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความคดีถึงที่สุดแล้ว นางสงวนและนางนงลักษณ์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยทั้งสอง (โจทก์ทั้งสองในคดีก่อน)จึงขอให้ศาลดำเนินการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของนางสงวนและนางนงลักษณ์ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาล โจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นสามีของนางนงลักษณ์ยื่นคำร้องว่า โจทก์มิใช่บริวารของนางสงวนและนางนงลักษณ์และอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องแล้วเชื่อว่า โจทก์เป็นบริวารของนางสงวนและนางนงลักษณ์ จึงต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ประกอบด้วยมาตรา 142(1) ให้ยกคำร้อง โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำสั่ง คดีในชั้นบังคับคดีระหว่างจำเลยทั้งสอง (โจทก์ทั้งสองในคดีก่อน) กับโจทก์ในคดีนี้จึงถึงที่สุด กรณีต้องฟังว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ครั้นต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้โดยตั้งรูปคดีเช่นเดียวกับที่โจทก์ยื่นคำร้องในคดีก่อนว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ดังนี้ เมื่อพิจารณาคำฟ้องและข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่าโจทก์จำเลยในคดีก่อนกับในคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกันโดยคดีชั้นร้องขอให้บังคับคดีในคดีก่อนเป็นคดีระหว่างจำเลยทั้งสอง(โจทก์ทั้งสองในคดีก่อน) กับโจทก์ในคดีนี้ในฐานะผู้คัดค้านโจทก์จำเลยย่อมอยู่ในฐานะเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวแล้ว ทั้งคดีก่อนและคดีนี้ต่างก็มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเช่นเดียวกัน จึงถือได้ว่ามีประเด็นอย่างเดียวกันซึ่งประเด็นในคดีก่อนศาลได้มีคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ฉะนั้น ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันอีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148คดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไปที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาว่า ให้ยกฟ้องนั้นชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share