แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ลูกจ้างได้ขับรถยนต์รับจ้างไปในทางการที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ว่าจ้าง เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันคำว่า “ผลประโยชน์ร่วมกัน” หมายถึง ผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง ไม่ได้หมายถึงผลประโยชน์ร่วมกันในลักษณะแห่งการเป็นตัวการและตัวแทนซึ่งมีกฎหมายบังคับคนละลักษณะกัน เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดในฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 สิทธิของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นนับตั้งแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นต้นไป โจทก์จะคิดดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันทำละเมิดเสมือนเป็นผู้เสียหายที่ถูกทำละเมิดโดยตรงมิได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการรับประกันภัยรถยนต์ และได้รับประกันภัยรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน ม-4293 นนทบุรี จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์แท็กซี่หมายเลขทะเบียน 2ท-0947 กรุงเทพมหานครและเป็นลูกจ้างปฏิบัติงานในทางการที่จ้างให้แก่จำเลยที่ 2และที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์แท็กซี่หมายเลขทะเบียน 2ท-0947 กรุงเทพมหานครร่วมกัน และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันเมื่อวันที่ 24พฤษภาคม 2527 เวลา 5 นาฬิกาเศษ จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์แท็กซี่คันดังกล่าวด้วยความประมาทไปตามถนนรามคำแหง จากบางกะปิมุ่งหน้าไปทางคลองตัน ด้วยความเร็วสูง เมื่อมาถึงหน้าสนามกีฬาหัวหมาก จำเลยที่ 1 ได้ขับรถเลี้ยวขวาที่สามแยกเพื่อเลี้ยวเข้าซอยมหาดไทย 1 โดยไม่ได้ให้สัญญาณใด ๆ ตัดหน้ารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ม-4293 นนทบุรี ซึ่งแล่นสวนมาในระยะกระชั้นชิดทำให้รถทั้งสองคันเกิดชนกัน โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม-4293 นนทบุรี ได้จัดการซ่อมแซมรถยนต์คันดังกล่าวและส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้วเสียค่าซ่อมแซมไปทั้งสิ้น 32,190 บาท โจทก์จึงเข้ารับช่วงสิทธิเรียกค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยทั้งสาม ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายจำนวน 32,190 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในการกระทำของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำละเมิดต่อเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ม-4293 นนทบุรี แต่เป็นความผิดของผู้ขับรถคันดังกล่าวซึ่งขับรถสวนมาในระยะกระชั้นชิด โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง ถ้าจะเสียหายก็ไม่เกิน 10,000 บาทขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ประมาทเป็นเหตุให้รถชนกันแม้ข้อเท็จจริงจะฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2แต่ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2ที่ 3 เพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 2 หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นเสมือนตัวแทนของจำเลยที่ 2 ที่ 3 พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 26,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2527จนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2528 เป็นต้นไป ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้รับประกันภัยรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ม-4293 นนทบุรี ต่อมาวันที่ 24พฤษภาคม 2527 ซึ่งอยู่ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย รถคันดังกล่าวได้ชนกับรถยนต์แท็กซี่หมายเลขทะเบียน 2ท-0947 กรุงเทพมหานครซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดว่าเป็นความประมาทของตนเอง จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถแท็กซี่และได้นำรถเข้าร่วมกับจำเลยที่ 3 รถที่โจทก์รับประกันภัยเสียหายโจทก์ได้ซ่อมและส่งรถให้ผู้เอาประกันภัยแล้วคดีมีปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในทางการที่จำเลยที่ 2ที่ 3 จ้าง เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันอันเป็นการบรรยายถึงลักษณะแห่งการเป็นตัวการและตัวแทนด้วยนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์แท็กซี่หมายเลขทะเบียน 2ท-0947 กรุงเทพมหานครด้วยความประมาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์แท็กซี่คันดังกล่าวและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในทางการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3จ้างดังนั้นที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันนั้น คำว่าผลประโยชน์ร่วมกันจึงหมายถึงผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง ไม่ได้หมายถึงผลประโยชน์ร่วมกันในลักษณะแห่งการเป็นตัวการและตัวแทนดังโจทก์กล่าวอ้าง จึงจะให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ในฐานะที่จำเลยที่ 1เป็นเสมือนตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วยไม่ได้ เพราะการเป็นลูกจ้างนายจ้างกับการเป็นตัวแทนตัวการนั้นมีลักษณะไม่เหมือนกันและมีกฎหมายบังคับคนละลักษณะกัน เมื่อโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและได้กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้ว จะให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดในการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นเสมือนตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องไว้ไม่ได้เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142วรรคแรก ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันละเมิด เพราะเป็นกรณีมูลละเมิดนั้นเห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดต่อโจทก์ในฐานะโจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 สิทธิของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นนับตั้งแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทน โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยได้นับตั้งแต่วันที่โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นต้นไป จะขอให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันละเมิดไม่ได้ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน