คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1037/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญา เมื่อจำเลยรู้ดีว่า เมื่อตนผิดสัญญาโจทก์จะต้องเสียหาย ดังนี้ จำเลยต้องรับผิดในค่าเสียหาย ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรค2 ซึ่งศาลอาจจะให้ค่าเสียหายได้
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญา 1,000 บาทและค่าเสียหายจากการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง 7,000 บาทศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 1,000 บาท โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์เห็นควรให้ค่าเสียหายทั้งหมดรวมกัน 7,000 บาทดังนี้ จะเรียกว่าศาลอุทธรณ์ไปวินิจฉัยในเรื่อง 1,000 บาทซึ่งโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ไม่ได้
เมื่อมีกรณีผิดสัญญาแล้ว ก็ย่อมเรียกค่าเสียหายแก่กันได้ถ้าผู้ได้รับความเสียหายพิสูจน์ได้ว่าตนได้เสียหายจริงจังเป็นเงินเท่าใดแล้ว ศาลก็ให้ตามนั้น หากพิสูจน์ไม่ได้ ศาลก็ให้ค่าเสียหายตามควรแก่กรณีโดยศาลกำหนดให้เองแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร และผู้เสียหายอาจได้รับค่าเสียหายทั้งสองประเภทก็ได้
คดีนี้ โจทก์ต้องเสียหายเพราะต้องรื้อสิ่งปลูกสร้างไป และต้องเสียหายเพราะไม่ได้ที่ดิน โจทก์จึงชอบที่จะได้ค่าเสียหายทั้งสองจำนวนรวมกันเป็น8,000 บาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาจะแบ่งขายที่ดินที่พิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยได้รับมัดจำไว้จากโจทก์ และสัญญาว่าถ้าไม่โอนที่ดินให้ตามกำหนดแล้ว ยอมใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 1,000 บาท ก่อนที่จะมีสัญญาซื้อขายนี้โจทก์ได้เช่าที่ดินนี้อยู่ เมื่อทำสัญญาแล้วจำเลยได้ให้โจทก์ครอบครองที่ดินดุจที่ดินนั้นเป็นของโจทก์ คือยกเลิกสัญญาเช่าที่ทำกันไว้ โจทก์จึงได้ปลูกเรือน 1 หลัง โรงควาย1 หลัง ทำถนน 1 สาย ต่อมาจำเลยที่ 2 นำที่รายเดียวกันนี้ไปขายให้แก่บุคคลภายนอก โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินมัดจำ ใช้ค่ารื้อถอนเรือนโรงควายและค่าทำถนน รวม 7,000 บาท ค่าเสียหายตามสัญญา 1,000 บาท

ศาลแพ่งเห็นว่า จำเลยเอาที่รายนี้ไปขายให้แก่บุคคลอื่นจำเลยต้องคืนเงินมัดจำและใช้ค่าเสียหาย 1,000 บาทศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายทั้งหมด 7,000 บาทค่าเสียหาย 1,000 บาทที่ศาลแพ่งให้จำเลยใช้ให้ยกเสีย

โจทก์ จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ารูปคดีฟังได้ว่า จำเลยได้ทราบว่าโจทก์จะทำการปลูกสร้าง ซึ่งหมายความว่าจำเลยรู้ดีว่าเมื่อตนผิดสัญญาโจทก์จะต้องเสียหาย เพราะได้ปลูกสร้างนี้จำเลยจึงต้องรับผิดในค่าเสียหายเหล่านี้ กรณีเข้า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรค 2 ซึ่งศาลอาจจะให้ค่าเสียหายสำหรับสิ่งปลูกสร้างนี้ได้

เรื่องค่าเสียหาย 1,000 บาทที่ศาลแพ่งให้นั้น โจทก์ได้อุทธรณ์เรื่องค่าเสียหายขอเพิ่มอีก 7,000 บาท ศาลอุทธรณ์เห็นว่าควรให้รวมกัน 7,000 บาท เป็นการวินิจฉัยว่าเท่าที่ศาลแพ่งให้ 1,000 บาทยังไม่เพียงพอ จึงเพิ่มให้ จะเรียกว่าศาลอุทธรณ์ไปวินิจฉัยในเรื่อง 1,000 บาทที่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ไม่ได้

ค่าเสียหายแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ ค่าเสียหายในกฎหมาย และค่าเสียหายที่ได้เสียหายจริงจัง กล่าวคือเมื่อมีกรณีผิดสัญญาแล้วก็ย่อมเรียกค่าเสียหายแก่กันได้ ถ้าผู้ได้รับความเสียหายพิสูจน์ได้ว่าตนเสียหายจริงจังเป็นเงินเท่าใดแล้ว ศาลก็ให้ตามนั้น หากพิสูจน์ไม่ได้ ศาลก็ให้ค่าเสียหายสมควรแก่กรณีโดยศาลกำหนดให้เองแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร และผู้เสียหายอาจได้รับความเสียหายทั้งสองประเภทก็ได้ กฎหมายไม่ได้จำกัดว่าจะได้แต่ประเภทเดียว เช่นเรื่องทำร้ายร่างกาย นอกจากผู้ถูกทำร้ายจะได้รับค่าแพทย์ ค่ายา ยังอาจได้ค่าเสียหายในการที่ถูกทำร้าย และทนทุกข์ทรมานด้วย คดีนี้โจทก์ต้องเสียหาย เพราะต้องรื้อสิ่งปลูกสร้างไป และต้องเสียหายเพราะไม่ได้ที่ดิน ค่าเสียหายประเภทแรกโจทก์สืบได้ความว่า 7,000 บาท ส่วนเบี้ยปรับ 1,000 บาท ที่กำหนดไว้ในสัญญานั้นเป็นจำนวนเงินที่กำหนดไว้สำหรับค่าเสียหายประเภทหลัง โจทก์ชอบที่จะได้ค่าเสียหายนั้นทั้งสองจำนวน

พิพากษาแก้ เฉพาะในจำนวนค่าเสียหายเป็นเงิน 8,000 บาท นอกนั้นยืน

Share