คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5785/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กรณีที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ค่าไถ่ถอนจำนอง ซึ่งมูลหนี้ที่ลูกหนี้ที่ 1 ได้ก่อขึ้นแก่เจ้าหนี้เกิดก่อนวันที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ที่ 1 เด็ด ขาด ดังนั้น ถือว่าสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะไถ่ถอนจำนองด้วยตนเองย่อมมีอยู่แล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ มูลแห่งหนี้ค่าไถ่ถอนจำนองที่จะเรียกเอาจากลูกหนี้ที่ 1 จึงเกิดขึ้นแล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เพียงแต่เจ้าหนี้ยังไม่ได้ไถ่ถอนจำนอง ซึ่งถ้า หากเจ้าหนี้ได้ไถ่ถอนจำนองไปแล้วเมื่อใด ก็ย่อมเรียกให้ลูกหนี้ที่ 1 ชดใช้เงินค่าไถ่ถอนจำนองได้เมื่อนั้น แต่ขณะที่ขอรับชำระหนี้ เจ้าหนี้ยังไม่ได้ไถ่ถอนจำนองและไม่แน่ว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธินั้นเมื่อใด เจ้าหนี้จึงยังไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้ชดใช้ค่าไถ่ถอนจำนอง แต่ถือได้ว่าหนี้ค่าไถ่ถอนจำนองรายนี้เป็นหนี้มีเงื่อนไขและเงื่อนไขยังไม่สำเร็จเจ้าหนี้ย่อมขอรับชำระหนี้ได้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483(มาตรา 94) ส่วนคำขอรับชำระหนี้ที่ระบุให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือใช้ราคาแก่เจ้าหนี้นั้น คำขอให้ใช้ราคาที่ดินเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำขอรับชำระหนี้ในลักษณะที่จะเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั่นเอง ซึ่งตามกฎหมายหนี้ที่จะขอรับชำระได้ในคดีล้มละลายจะต้องเป็นหนี้เงินเท่านั้น การที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ในลักษณะขอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือใช้ราคาแก่เจ้าหนี้เช่นนี้ จึงไม่มีสิทธิที่จะทำได้ แต่เจ้าหนี้ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้ดำเนินการเพื่อบังคับตามสิทธิของตนเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในลักษณะขอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือใช้ราคาแก่เจ้าหนี้เช่นนี้ศาลจะอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ในส่วนนี้หาได้ไม่.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้(จำเลย) ทั้งสองชั่วคราว และมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งสองเด็ดขาด นายควง อัษฎมงคลกูล เจ้าหนี้ โดยนายบวร โจมฤทธิ์ หรือนายบุญมาก ปทุมวัน ผู้ร้บมอบอำนาจ ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นเงิน 827,080.35 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสอง โดยอ้างว่า ลูกหนี้ทั้งสองเป็นหนี้ตามเช็คตั๋วเงิน แชร์ และดอกเบี้ยกับค่าไถ่ถอนจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือใช้ราคาที่ดินและดอกเบี้ยซึ่งมีสำเนาโฉนดที่ดินและสำเนาสัญญาจำนองอย่างละ 2 ฉบับ กับสำเนาหนังสือยืนยันการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และสำเนาคำร้องที่ยื่นค่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อย่างละฉบับเป็นหลักฐานประกอบหนี้ ปรากฏรายละเอียดตามบัญชีหนี้สินท้ายคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้บรรดาเจ้าหนี้และลูกหนี้ตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้วไม่มีผู้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว ฟังว่าเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามเช็คทั้งเจ็ดฉบับเป็นเงินต้น 380,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 384,138.36 บาท เจ้าหนี้ขอมา 384,060.29 บาทจึงพิจารณาให้เท่าที่ขอส่วนหนี้ค่าไถ่ถอนจำนองหรือชดใช้ราคาที่ดินเห็นว่า หนังสือสัญญาเช่าซื้อที่เจ้าหนี้ทำกับสหกรณ์ออมทรัพย์การปกครอง ตามเอกสารหมาย จ.2 ไม่ปรากฏหลักฐานว่าที่ดินที่เจ้าหนี้เช่าซื้อนั้นเป็นที่โฉนดเลขที่เท่าใดหรือแปลงที่เท่าใด จึงทำให้ไม่อาจทราบได้ว่าที่ดินที่เจ้าหนี้เช่าซื้อไว้นั้นจะเป็นที่ดินแปลงเดียวกับแปลงที่ลูกหนี้ที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ไว้หรือไม่นอกจากนั้น ตามเอกสารหมาย จ.2 ระบุชื่อผู้เช่าซื้อคือนางสาวพรวิภาวงศ์ไพทูรย์ปิยะ มิใช่เจ้าหนี้ และหนังสือยืนยันการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามเอกสารหมาย จ.3 ที่เจ้าหนี้อ้างว่าลูกหนี้ที่ 1เป็นผู้ทำขึ้น ก็ไม่เป็ฯที่ยุติว่าลูกหนี้ที่ 1 จะเป็นผู้ทำหนังสือดังกล่าวขึ้นจริงหรือไม่ เพราะลูกหนี้ที่ 1 หลบหนี จึงมิอาจยืนยันได้ว่าลูกหนี้ที่ 1 ได้ทำหนังสือดังกล่าวจริง อีกทั้งลายมือชื่อของลูกหนี้ที่ 1 ที่ลงไว้ในหนังสือดังกล่าวจะลงไว้จริงหรือไม่ก็ไม่แน่ชัด ดังนั้นจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า ลูกหนี้ที่ 1 มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวแทนเจ้าหนี้ และมีความเห็นควรให้นายควงอัษฎมงคลกูล เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามเช็คจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 เป็นเงิน 384,060.29 บาท ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 130(8) ให้ลูกหนี้ที่ 1 ร่วมรับผิดกับลูกหนี้ที่ 2ในจำนวนหนี้ดังกล่าวไม่เกิน 30,326.71 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าหากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากนายวิเชียร พีรเศรษฐสกุล และนายยุทธชัยกุสุมวรรณ ผู้สั่งจ่ายเช็คแล้วเพียงใด ก็ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในคดีนี้น้อยลงเพียงนั้น ให้ยกคำขอรับชำระหนี้ค่าไถ่ถอนจำนองและโอนกรรมสิทธิ์หรือชดใช้ราคาที่ดินพร้อมดอกเบี้ย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 107(1) เสีย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 80197 ตำบลลาดยาวอำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าหนี้ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 80173 ไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าหนี้ และเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็ไม่ได้มอบอำนาจให้เจ้าหนี้มาดำเนินกิจการเจ้าหนี้จึงไม่มีอำนาจร้องขอให้ดำเนินการได้ พิพากษาแก้เป็นว่าหากนายควง อัษฎมงคลกูล เจ้าหนี้ไถ่ถถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 80197ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร เองก็อนุญาตให้ได้รับชำระหนี้เท่าจำนวนนั้นจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 หรือได้รับชดใช้ราคาที่ดินจำนวน 94,050 บาท พร้อมดอกเบี้ย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 107,(3), 130(8) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “กรณีที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ค่าไถ่ถอนจำนองนั้น เห็นว่าตามคำขอของเจ้าหนี้ดังกล่าวข้างต้น ได้ความชัดเจนว่าลูกหนี้ที่ 1 เอาที่ดินของเจ้าหนี้ไปจำนองเมื่อวันที่ 3 กันยายน2525 และรับจะไถ่ถอนจำนองและโอนคืนให้เจ้าหนี้ภายใน 1 ปี แต่ก็ไม่ไถ่ถอนและโอนคืนตามที่รับรองไว้ ต่อมาลูกหนี้ที่ 1 ถูกฟ้องทั้งเป็นคดีแพ่งธรรมดาและคดีล้มละลาย ซึ่งในคดีล้มละลายนั้น ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2528 ดังนี้ มูลหนี้ที่ลูกหนี้ที่ 1 ได้ก่อขึ้นแก่เจ้าหนี้นั้นเกิดก่อนวันที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาด ดังนั้นย่อมถือได้ว่าสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะไถ่ถอนจำนองด้วยตนเองย่อมมีอยู่แล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ มูลแห่งหนี้ค่าไถ่ถอนจำนองที่จะเรียกเอาจากลูกหนี้ที่ 1 จึงเกิดขึ้นแล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เพียงแต่เจ้าหนี้ยังไม่ได้ไถ่ถอนจำนอง ซึ่งถ้าเจ้าหนี้ได้ไถ่ถอนจำนองไปแล้วเมื่อใด ก็ย่อมเรียกให้ลูกหนี้ที่ 1 ชดใช้เงินค่าไถ่ถอนจำนองได้เมื่อนั้นแต่โดยที่ขณะขอรับชำระหนี้นั้นเจ้าหนี้ยังไม่ได้ไถ่ถอนจำนองและไม่แน่ว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิขอไถ่ถอนจำนองนั้นเมื่อใดเจ้าหนี้จึงยังไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้ชดใช้ค่าไถ่ถอนจำนองได้ทันทีแต่ถือได้ว่าหนี้ค่าไถ่ถอนจำนองรายนี้เป็นหนี้มีเงื่อนไข และเงื่อนไขยังไม่สำเร็จ เจ้าหนี้จึงยอมขอรับชำระหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94 ส่วนคำขอรับชำระหนี้ที่ระบุขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน หรือใช้ราคาแก่เจ้าหนี้นั้น เห็นว่า หนี้ที่ขอรับชำระมีที่ดินเป็นวัตถุแห่งหนี้มิใช่เป็นหนี้เงิน แม้จะมีคำขอว่า “หรือให้ใช้ราคาที่ดิน”กำกับอยู่ คำขอดังกล่าวก็เป็นเพียงคำขอสำรอง สำหรับใช้เป็นสภาพบังคับในกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่เจ้าหนี้ได้เท่านั้น คำขอให้ใช้ราคาที่ดินในที่นี้จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำขอรับชำระหนี้ในลักษณะที่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั่นเอง ซึ่งตามกฎหมายหนี้ที่จะขอรับชำระได้ในคดีล้มละลายจะต้องเป็นหนี้เงินเท่านั้น ซึ่งถ้ามีดอกเบี้ยรวมอยู่ด้วยก็คิดดอกเบี้ยได้ถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น การที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ในลักษณะขอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือใช้ราคาแก่เจ้าหนี้ เช่นนั้น จึงไม่มีสิทธิที่จะทำได้ แต่เจ้าหนี้ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้ดำเนินการเพื่อบังคับตามสิทธิของตนเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากได้ ซึ่งก็ปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ดำเนินการไปแล้วเป็นสาขาคดีอีกสาขาหนึ่งต่างหาก ดังปรากฏตามคดีหมายเลขดำที่ ล.65/2533 ของศาลฎีกา สำหรับสาขาคดีขอรับชำระหนี้นี้เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในลักษณะขอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือใช้ราคาแก่เจ้าหนี้มาด้วยเช่นนี้ ศาลจะอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ในส่วนนี้หาได้ไม่ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ส่วนนี้เสียนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล และที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าหากเจ้าหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินแปลงนี้เอง ก็ให้ได้รับชำระหนี้เท่าจำนวนเงินที่ไถ่ถอนจำนองจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 นั้นก็ชอบด้วยเหตุผลแล้วแต่ที่ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชดใช้ราคาที่ดินพร้อมด้วยดอกเบี้ยมาด้วยนั้นหาเป็นการชอบไม่…”
พิพากษาแก้เป็นว่า หากเจ้าหนี้ไถ่ถอนจำนองที่พิพาทเป็นเงินจำนวนเท่าใดก็ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ค่าไถ่ถอนจำนองจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 เป็นเงินจำนวนเท่านั้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 130(8) ส่วนคำขอรับชำระหนี้ที่ขอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้เจ้าหนี้หรือให้ใช้ราคาพร้อมด้วยดอกเบี้ยนั้นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share