คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4042/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาจ้างผู้จัดการร้านฉบับพิพาทกำหนดเหตุที่นายจ้างมีสิทธิเลิกสัญญาว่า ผู้จัดการร้านละเลยงานที่ได้รับมอบหมายโดยเจตนาหรือกระทำการใด ๆ โดยเจตนาไม่สุจริตเกี่ยวกับงานสำคัญ ๆ เช่น การดูแลเงินสดและการจัดการลูกจ้าง ดังนั้น ผู้จัดการร้านจะมีความผิดตามสัญญาจ้างดังกล่าวฐานละเลยงานที่ได้รับมอบหมายก็ดี หรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานสำคัญ ๆเช่น การดูแลเงินสดก็ดี ผู้จัดการร้านจะต้องกระทำโดยมีเจตนาหรือโดยเจตนาไม่สุจริต การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการร้านลืมนำเงินทอนที่แลกเป็นฉบับย่อยเข้าเก็บในตู้นิรภัยให้ครบ มิใช่เป็นการละเลยโดยเจตนาหรือโดยเจตนาไม่สุจริตการกระทำของโจทก์จึงมิได้ฝ่าฝืนสัญญาจ้างและไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างในตำแหน่งผู้จัดการร้านของจำเลย สาขาสี่แยกวังหิน เป็นเวลา 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2540 ตกลงจ่ายค่าจ้างเป็นเงินเดือน เดือนละ12,000 บาท กำหนดจ่ายทุกวันสิ้นเดือน ค่าจ้างจากยอดขายร้อยละหนึ่งของยอดขายทุก 3 เดือน เฉลี่ยแล้วโจทก์จะได้รับเดือนละ 6,300 บาท และค่าจ้างจากการดูแลสินค้าสูญหายต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือ 45,000 บาท ต่อ 3 เดือน จำเลยจะจ่ายเงินส่วนนี้ให้โจทก์ร้อยละสี่สิบของส่วนต่างระหว่าง 45,000 บาท กับสินค้าสูญหายเฉลี่ยแล้ว โจทก์จะได้รับค่าจ้างส่วนนี้เดือนละ 3,000 บาท รวมแล้วโจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 21,300 บาท นอกจากนี้จำเลยเรียกเก็บเงินประกันการทำงานจากโจทก์ไปเป็นเงิน 50,000 บาท โดยจำเลยตกลงจะคืนให้เมื่อโจทก์พ้นสภาพการจ้าง ต่อมาวันที่ 19 ธันวาคม 2540 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์เป็นเงิน 21,300 บาทและค่าชดเชยเป็นเงิน 21,300 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างร้อยละหนึ่งจากยอดขายในเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2540 เป็นเงิน 19,000 บาท ค่าจ้างดูแลสินค้าสูญหายต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด โจทก์มีสิทธิได้รับเป็นเงิน 23,412.50 บาท ขณะปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของจำเลยเอาเงินส่วนตัวของโจทก์เข้าบัญชีจำเลยเป็นเงิน 1,235.25 บาท จำเลยจะต้องคืนเงินส่วนนี้ให้โจทก์ และการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 71,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 21,300 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 21,300 บาท เงินประกันการทำงาน 50,000 บาท ค่าจ้างร้อยละหนึ่งของยอดขายเป็นเงิน 19,000 บาท ค่าจ้างป้องกันสินค้าสูญหาย 23,412.50 บาท เงินของโจทก์ที่จำเลยเอาไป 1,235.25 บาท ค่าเสียหายเป็นเงิน 71,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 164,835.25 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 42,412.50 บาท นับตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า เหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ประพฤติผิดสัญญาจ้างผู้จัดการร้านค้าและกฎระเบียบของจำเลยอย่างร้ายแรงเนื่องจากโจทก์ได้นำเงินของจำเลยไปใช้ส่วนตัว ซึ่งตามกฎระเบียบของจำเลยที่ระบุไว้ว่าตู้นิรภัยจะต้องมีเงินทอนสำรองเก็บอยู่ 15,000 บาท แต่ในวันที่ 16 ธันวาคม 2540 พนักงานฝ่ายปฏิบัติการของจำเลยได้ตรวจนับแล้วปรากฏว่าเงินในเครื่องเก็บเงินและในตู้นิรภัยขาดจำนวนไป 6,599 บาท โดยโจทก์นำเงินจำนวนนี้ไป จึงเป็นการกระทำผิดกฎระเบียบอย่างร้ายแรงตามสัญญาข้อ 11.1(5) จำเลยยกเลิกสัญญาจ้างผู้จัดการร้านค้าได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวและจำเลยมีสิทธิริบเงินประกันจำนวน 50,000 บาท ทั้งจำเลยไม่ต้องรับผิดค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินประกัน ค่าจ้างร้อยละหนึ่งของยอดขายค่าจ้างกรณีป้องกันสินค้าสูญหาย และค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ให้ทำหน้าที่ผู้จัดการร้านค้าของจำเลยสาขาสี่แยกวังหินเป็นเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2540 โจทก์ได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือนเดือนละ 12,000 บาท กำหนดจ่ายทุกสิ้นเดือน เป็นค่าตอบแทนร้อยละหนึ่งของยอดขายทุก 3 เดือน เฉลี่ยโจทก์ได้รับเดือนละ 6,300 บาท และเป็นค่าดูแลสินค้าสูญหายเดือนละ 3,000 บาท รวมเป็นค่าจ้างของโจทก์เฉลี่ยเดือนละ21,300 บาท และจำเลยเรียกเก็บเงินประกันการทำงานจากโจทก์ไว้เป็นเงิน50,000 บาท วันที่ 19 ธันวาคม 2540 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามหนังสือเอกสารหมาย ล.1 ตามสัญญาจ้างผู้จัดการร้านเอกสารท้ายคำให้การซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างได้กำหนดเหตุที่จำเลยจะยกเลิกสัญญาจ้างตามข้อ 11.1(5) ได้ ต้องปรากฏว่าโจทก์กระทำการใด ๆ โดยเจตนาไม่สุจริตเกี่ยวกับงานสำคัญดูแลเงินสด เมื่อจำเลยไม่นำสืบว่าโจทก์ไม่สุจริตอย่างไรเพียงแต่โจทก์ลืมนำเงินที่แลกเป็นฉบับย่อยไว้แล้วเข้าเก็บในตู้นิรภัยให้ครบ15,000 บาท ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับอย่างร้ายแรงแต่จำเลยย่อมไม่ไว้วางใจโจทก์ในเรื่องการเก็บรักษาเงิน อันจะร่วมทำงานกันต่อไปได้ การเลิกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรและเป็นธรรมโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายการที่โจทก์หลงลืมนำเงินทอนจำนวน 6,599 บาท ใส่ในตู้นิรภัย เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุดังกล่าว โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าส่วนค่าชดเชย เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 แล้ว โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 21,300 บาท จำเลยยกเลิกสัญญาจ้างไม่ต้องด้วยสัญญาจ้าง ข้อ 11.1(5) จำเลยไม่มีสิทธิริบเงินประกันตามข้อ 11.2 จำเลยต้องคืนเงินประกันให้แก่โจทก์ภายใน 1 เดือน นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดตามข้อ 2 ส่วนค่าจ้างร้อยละหนึ่งจากยอดขายเป็นเงิน 19,000 บาท และค่าจ้างป้องกันสินค้าสูญหายต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดเป็นเงิน 23,412.50 บาท จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ต้องจ่ายแก่โจทก์ เพราะโจทก์กระทำความผิดร้ายแรงตามสัญญาจ้างข้อ 11.1(5) เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์กระทำผิดอย่างร้ายแรง จำเลยต้องจ่ายคืนแก่โจทก์ สำหรับเงิน 1,235.25 บาท ที่นายสุกิจนำเข้าฝากบัญชีของจำเลยเป็นเงินของโจทก์จำเลยต้องคืนแก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างร้อยละหนึ่งของยอดขายเป็นเงิน 19,000 บาท ค่าจ้างป้องกันสินค้าสูญหายเป็นเงิน 23,412.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ค่าชดเชยเป็นเงิน 21,300 บาท เงินประกันการทำงาน 50,000 บาท และเงินที่จำเลยเอาไปจำนวน 1,235.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์ฝ่าฝืนสัญญาจ้างผู้จัดการร้าน ข้อ 11.1(5) ซึ่งเป็นระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่าตามสัญญาจ้างผู้จัดการร้าน ข้อ 11.1(5) กำหนดว่า ผู้จัดการร้านละเลยงานที่ได้รับมอบหมายโดยเจตนาหรือกระทำการใด ๆ โดยเจตนาไม่สุจริตเกี่ยวกับงานสำคัญ ๆ เช่น การดูแลเงินสดและการจัดการลูกจ้าง ดังนั้น ผู้จัดการร้านจะมีความผิดตามสัญญาจ้างดังกล่าวฐานละเลยงานที่ได้รับมอบหมายก็ดีหรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานสำคัญ ๆ เช่น การดูแลเงินสดก็ดี ผู้จัดการร้านจะต้องกระทำโดยมีเจตนาหรือโดยเจตนาไม่สุจริต เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการร้านลืมนำเงินทอนที่แลกเป็นฉบับย่อยจำนวน 6,599 บาท เข้าเก็บในตู้นิรภัยให้ครบ 15,000 บาท ดังนั้น การที่โจทก์ลืมนำเงินที่แลกจำนวนดังกล่าวเข้าเก็บในตู้นิรภัยให้ครบจำนวนจึงมิใช่เป็นการละเลยโดยเจตนาหรือโดยเจตนาไม่สุจริต การกระทำของโจทก์มิได้ฝ่าฝืนสัญญาจ้างผู้จัดการร้านอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน

พิพากษายืน

Share