คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1605/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ข้อ 35 ผู้ที่เข้าเกี่ยวข้องกับการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์โดยผ่านบริษัทสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์จำต้องยินยอมผูกพันตนเองตามระเบียบข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทุกประการ ดังนั้น จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ผู้สั่งซื้อหุ้นมิได้เป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์จึงไม่ต้องใช้ข้อบังคับดังกล่าวหาได้ไม่
ระเบียบปฏิบัติของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีว่า การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จะต้องส่งมอบใบหุ้นและชำระราคากันภายใน 4 วันของวันทำการเว้นแต่จะตกลงกันเป็นอย่างอื่นจำเลยเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ จึงต้องปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าว ไม่ว่าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะเป็นสมาชิกหรือไม่ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิขอให้จำเลยโอนใบหุ้นที่สั่งซื้อให้แก่โจทก์ภายใน 4 วันของวันทำการได้
โจทก์ทวงถามให้จำเลยส่งมอบใบหุ้นที่สั่งซื้อให้แก่โจทก์โดยไม่มีการผ่อนผันหรือตกลงยินยอมเป็นอย่างอื่น เมื่อผู้ขายหุ้นไม่ส่งมอบใบหุ้นให้แก่จำเลยภายใน 4 วัน จำเลยก็มิได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์เป็นหนังสือเพื่อให้ ตลาดหลักทรัพย์ดำเนินการตามข้อบังคับ ข้อ 31 จึงเป็นการละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของตนตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แม้โจทก์จำเลยจะผูกพันกันในฐานะตัวการตัวแทนก็ดีหากจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนตามระเบียบข้อบังคับดังกล่าวซึ่งใช้บังคับระหว่างโจทก์จำเลยแล้ว ถือได้ว่าตัวแทนประพฤติผิดสัญญาโจทก์ซึ่งเป็นตัวการย่อมบอกเลิกสัญญาได้
การซื้อขายหุ้นที่จะถือว่าเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดนั้นจะต้องเป็นการซื้อขายหุ้นที่ผู้ซื้อและผู้ขายได้กำหนดกันไว้แล้วว่าเป็นหุ้นจำนวนเท่าใด และมีหมายเลขหุ้นที่เท่าใด นอกจากนี้ ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้กู้เงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และวิธีการรับมอบหมายให้ขายหลักทรัพย์สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ ข้อ 5และข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ข้อ 33 วรรคสามยังบังคับว่าการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้นจะต้องมีใบหุ้นหรือใบตอบรับการโอนหุ้นที่นายทะเบียนเป็นผู้ออกให้อยู่ที่บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งเป็นสมาชิกผู้ขายพร้อมที่จะส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อได้ทุกเมื่อ ปรากฏว่าขณะที่จำเลยตกลงซื้อหุ้นรายพิพาทจากผู้ขาย ยังไม่มีใบหุ้นตามจำนวนที่ตกลงซื้อขายกันอยู่ที่ผู้ขาย หรือมิได้มีบุคคลใดมอบหมายให้ขายหลักทรัพย์นั้น เมื่อการซื้อขายยังไม่มีใบหุ้นจึงเป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ข้อ 33 วรรค 1 และ 2 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดแล้วสัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์
เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาซื้อขายหุ้นเพราะจำเลยประพฤติผิดระเบียบข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หนี้อันเกิดจากโจทก์สั่งซื้อหุ้นพิพาทจึงไม่มีจำเลยจึงต้องคืนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์จำนำไว้เป็นประกันการสั่งซื้อหุ้นให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประกอบกิจการซื้อขายหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีข้อบังคับว่าให้สมาชิกผู้ขายส่งมอบหลักทรัพย์ที่ซื้อขายให้แก่สมาชิกผู้ซื้อภายใน 4 วันทำการโจทก์ได้สั่งซื้อหลักทรัพย์คือหุ้นสามัญระบุชื่อของบริษัทแผ่นเหล็กวิลาสไทย จำกัดต่อจำเลย 2 ครั้ง จำนวน 4,000 หุ้น เป็นเงิน 2,376,000 บาท โจทก์แจ้งแก่จำเลยว่าจะนำหุ้นดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในกิจการค้าของโจทก์ จำเลยจะต้องส่งมอบใบหุ้นและตราสารการโอนหุ้นแก่โจทก์ภายใน 4 วันทำการนับแต่วันสั่งซื้อ และโจทก์จะชำระเงินค่าหุ้นแก่จำเลยพร้อมกัน โจทก์เป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งจำเลยเป็นผู้ออกจำนวน 800,000 บาท ได้จำนำตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวไว้แก่จำเลยเพื่อเป็นประกันการชำระค่าหุ้น เมื่อครบกำหนด 4 วันทำการ จำเลยไม่ส่งมอบหุ้นที่สั่งซื้อให้แก่โจทก์ และผิดนัดเรื่อยมา โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกการซื้อหุ้น และให้จำเลยคืนตั๋วสัญญาใช้เงินแก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ยอมคืน จึงขอให้พิพากษาและบังคับ

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ยังไม่มีสิทธิที่จะขอรับตั๋วสัญญาใช้เงินโจทก์ไม่เคยบอกจำเลยว่าจะนำหุ้นดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในกิจการค้า และมิได้ตกลงในเรื่องส่งมอบใบหุ้นและตราสารการโอนหุ้นให้แก่โจทก์ภายใน 4 วันทำการโจทก์หวังประโยชน์จากการที่ราคาหุ้นขึ้นลง แต่เนื่องจากภายหลังที่จำเลยซื้อหุ้นให้แก่โจทก์แล้ว ราคาหุ้นตกต่ำลงมาก โจทก์จึงบิดพลิ้วไม่ยอมจ่ายเงินค่าหุ้นให้แก่จำเลย จึงขอให้ยกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ชำระเงินค่าหุ้นแก่จำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดนัดชำระค่าหุ้นให้แก่จำเลย เพราะจำเลยไม่สามารถส่งมอบหุ้นให้แก่โจทก์ได้ภายใน 4 วันนับแต่โจทก์สั่งซื้อ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา จำเลยกระทำการโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นตัวแทนจัดซื้อหุ้นให้แก่โจทก์ จำเลยต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คือต้องส่งมอบหุ้นให้แก่โจทก์ภายใน 4 วัน แต่จำเลยไม่ปฏิบัติ จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้พิพากษาให้จำเลยคืนตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องแก่โจทก์ ถ้าไม่คืน ให้ใช้เงินแทน และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ได้ส่งมอบใบหุ้นที่ซื้อแก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยยังไม่ได้รับใบหุ้นมาจากผู้ขายเพื่อโอนให้โจทก์ โจทก์จึงบอกเลิกการซื้อขายหุ้นรายนี้เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2521 ตามเอกสารหมาย จ.7 จำเลยฎีกาว่าข้อบังคับที่ออกตามพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 กำหนดบังคับระหว่างบริษัทสมาชิกตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น โจทก์ไม่ใช่สมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงไม่อาจอ้างการส่งมอบใบหุ้นล่าช้ามาเป็นเหตุหาว่าจำเลยผิดสัญญาได้ ศาลฎีกาเห็นว่าระเบียบปฏิบัติของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ที่ตกลงซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ ตามเอกสารหมาย ล.1 มีข้อความระบุว่า “การส่งมอบหลักทรัพย์และตราสารอันจำเป็นที่จะใช้โอนหลักทรัพย์นั้น ให้ผู้ขายส่งมอบแก่ผู้ซื้อภายในเวลาไม่เกิน 11 นาฬิกาของวันทำการที่ 4 นับจากวันที่ได้ตกลงซื้อขายกัน และให้ผู้ซื้อชำระให้แก่ผู้ขายทันทีเมื่อผู้ขายส่งมอบหลักทรัพย์และตราสารอันจำเป็นที่จะใช้ในการโอนหลักทรัพย์ให้แก่ผู้ซื้อ เว้นแต่สมาชิกคู่กรณีจะตกลงกันเป็นอย่างอื่น” แสดงว่าการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยปกติจะต้องส่งมอบใบหุ้นและชำระราคากันภายใน 4 วันของวันทำการ เว้นแต่จะมีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น เมื่อจำเลยเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงต้องปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าวไม่ว่าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือไม่ เพราะข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ข้อ 35 ระบุว่า “สมาชิกไม่มีอำนาจที่จะเพิกถอนการตกลงซื้อขายที่เสร็จเด็ดขาด รวมทั้งต้องจัดการให้ลูกค้าของตนยินยอมรับผูกพันตามความในระเบียบและข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ไม่ว่าในกรณีใด ๆ “ตามข้อบังคับดังกล่าวนี้ ผู้ที่เข้าเกี่ยวข้องกับการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยผ่านบริษัทสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำต้องยินยอมผูกพันตนเองตามระเบียบข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทุกประการ ฉะนั้นจำเลยจะอ้างว่าโจทก์ผู้สั่งซื้อหุ้นมิได้เป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงไม่ต้องใช้ข้อบังคับดังกล่าวหาได้ไม่ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้จำเลยโอนใบหุ้นที่สั่งซื้อให้แก่โจทก์ภายใน4 วันของวันทำการได้ และในกรณีกลับกัน ถ้าหากโจทก์เป็นผู้ขายหลักทรัพย์โดยผ่านจำเลยในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โจทก์ก็มีความผูกพันที่จะต้องมอบหลักทรัพย์ที่ขายนั้นให้แก่จำเลยเพื่อโอนให้แก่ผู้ซื้อภายใน 4 วันของวันทำการเช่นเดียวกัน โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยปฏิบัติการส่งมอบใบหุ้นที่สั่งซื้อให้แก่โจทก์ตามข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยไม่มีการผ่อนผันหรือตกลงยินยอมเป็นอย่างอื่น เมื่อผู้ขายหุ้นไม่ส่งมอบใบหุ้นให้แก่จำเลยภายใน 4 วัน จำเลยก็มิได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นหนังสือเพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยดำเนินการตามข้อบังคับข้อ 31 แต่อย่างใด จึงเป็นการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนตามข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จนเป็นเหตุให้โจทก์ร้องเรียนพฤติการณ์ของจำเลยไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามเอกสารหมาย จ.6 และร้องเรียนไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามเอกสารหมาย จ.10 ขอให้สอบสวนลงโทษจำเลยในกรณีกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แม้โจทก์จำเลยจะผูกพันกันในฐานะตัวการตัวแทนก็ดี หากจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนตามระเบียบข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งใช้บังคับระหว่างโจทก์และจำเลยแล้ว ถือได้ว่าตัวแทนประพฤติผิดสัญญา โจทก์ซึ่งเป็นตัวการย่อมบอกเลิกสัญญาได้

ที่จำเลยฎีกาว่า การซื้อขายหุ้นที่จำเลยกระทำไปในฐานะตัวแทนของโจทก์ได้เกิดขึ้นและสำเร็จลงแล้ว และข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ข้อ 35ระบุไว้ชัดแจ้งว่าสมาชิกไม่มีอำนาจที่จะเพิกถอนการตกลงซื้อขายที่เสร็จเด็ดขาดฉะนั้น แม้หากจำเลยผิดสัญญา สิทธิเรียกร้องของโจทก์ก็จะมีเพียงเรียกร้องค่าเสียหายอันเนื่องมาจากได้รับมอบใบหุ้นและรับโอนหุ้นล่าช้าเท่านั้น ไม่เป็นเหตุให้จำต้องเลิกสัญญาทั้งหมด ศาลฎีกาเห็นว่า การซื้อขายหุ้นที่จะถือว่าเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดนั้นจะต้องเป็นการซื้อขายหุ้นที่ผู้ซื้อและผู้ขายได้กำหนดกันไว้แล้วว่าเป็นหุ้นจำนวนใดมีหมายเลขหุ้นที่เท่าใดกันแน่นอนแล้วเท่านั้น เพราะในใบคอนแทร็คโน๊ต เอกสารหมาย ล.7 มีช่อง “ใบหุ้นเลขที่” ไว้สำหรับกรอกหมายเลขหุ้นที่ซื้อขายกันไว้ด้วย นอกจากนี้ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้กู้เงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และวิธีการรับมอบหมายให้ขายหลักทรัพย์สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ลงวันที่ 27 มีนาคม 2522ข้อ 5 และข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ข้อ 33 วรรค 3 ก็มีข้อความเป็นทำนองเดียวกันว่า ในการกระทำการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องเรียกให้บุคคลผู้มอบหมายให้ขายหลักทรัพย์นำใบหุ้นหรือใบตอบรับการโอนหุ้นที่นายทะเบียนเป็นผู้ออกให้หรือเอกสารอื่นใดอันแสดงว่าบุคคลนั้นมีหลักทรัพย์นั้นอยู่ในครอบครองมามอบไว้ให้แก่บริษัทสมาชิก ประกาศและข้อบังคับดังกล่าวเป็นการบังคับว่า การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น จะต้องมีใบหุ้นหรือใบตอบรับการโอนหุ้นที่นายทะเบียนเป็นผู้ออกให้อยู่ที่บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งเป็นสมาชิกผู้ขายพร้อมที่จะส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อได้ทุกเมื่อ ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีการซื้อขายหลักทรัพย์ล่วงหน้า อันอาจเป็นช่องทางให้สมาชิกตลาดหลักทรัพย์เอาเปรียบลูกค้าหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างไม่เป็นธรรมได้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าขณะที่จำเลยตกลงซื้อหุ้นรายพิพาทจากผู้ขายในวันที่ 9 มกราคม 2521 นั้นยังไม่มีใบหุ้นตามจำนวนที่ตกลงซื้อขายกันอยู่ที่บริษัทสมาชิกผู้ขาย หรือมิได้มีบุคคลใดมอบหมายให้ขายหลักทรัพย์นั้น มิฉะนั้นก็คงลงหมายเลขหุ้นที่ซื้อขายกันในใบคอนแทร็คโน๊ตด้วยแล้ว เมื่อการซื้อขายยังไม่มีใบหุ้น จึงเป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ข้อ 33 วรรค 1 และ 2จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการซื้อขายที่เสร็จเด็ดขาดแล้ว สัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.6จึงไม่ผูกพันโจทก์ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาซื้อหุ้นเพราะจำเลยประพฤติผิดระเบียบข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยดังวินิจฉัยมาแล้วข้างต้นหนี้อันเกิดจากโจทก์สั่งซื้อหุ้นพิพาทตามฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่มี จำเลยจึงต้องคืนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์จำนำไว้เป็นการประกันการสั่งซื้อหุ้นให้แก่โจทก์

พิพากษายืน

Share