คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1072/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรซึ่งเป็นผู้เยาว์เข้าทำสัญญาดังกล่าวเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ จำเลยปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมาย อันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนในอันที่จะคุ้มครองผู้เยาว์ แม้จะมิได้ว่ากล่าวกันมาศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้
โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกมรดกจากผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายด้วยการแบ่งทรัพย์มรดกต้องแบ่งกันตามส่วนที่แต่ละคน มีสิทธิได้รับ เมื่อปรากฏว่าทายาทผู้มีสิทธิได้รับที่ดินพิพาทตามพินัยกรรม มี 5 คนโจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเพียงคนละ1ใน5 ส่วน (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1602/2519)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามกับพวกอีก 2 คนเป็นบุตรของนายชั้วและนางชลอน นางชลอนได้ถึงแก่กรรมแล้ว นายชั้วได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินต่าง ๆ ของนายชั้วและนางชลอนให้แก่โจทก์ทั้งสามกับพวก และได้ทำหนังสือสัญญายกทรัพย์สินให้โจทก์ทั้งสามกับพวก นายชั้วได้สมรสกับจำเลยและมีบุตร 1 คน ต่อมานายชั้วถึงแก่กรรมทรัพย์สินตามพินัยกรรมจึงตกได้แก่โจทก์ทั้งสามกับพวกอีก 2 คน หลังจากนั้นจำเลยได้รับแต่งตั้งจากศาลให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายชั้ว จำเลยไม่ได้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามตามสิทธิขอให้บังคับจำเลยส่งมอบทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม ตามหนังสือสัญญาการให้และตามสิทธิที่โจทก์ทั้งสามควรได้ในฐานะทายาทโดยธรรม ให้จำเลยจัดการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดกซึ่งตกได้แก่โจทก์ทั้งสามให้แก่โจทก์ทั้งสามหากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย

จำเลยให้การว่า ทรัพย์สินตามพินัยกรรมบางรายการนายชั้วได้แบ่งให้โจทก์และทายาทไปแล้ว บางรายการก็ขายไป โจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน จำเลยได้แบ่งทรัพย์สินให้โจทก์ทั้งสามและทายาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสาม หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เอกสารหมาย ล.6 ซึ่งเรียกว่า “สัญญาประนีประนอม”ระบุไว้ตอนต้นว่า “สัญญาประนีประนอมฉบับนี้ทำขึ้นระหว่างนางอารมย์ (คือจำเลย) และบุตรฝ่ายหนึ่ง กับนางบุษกรนางกำไร นายบัณฑิต (คือโจทก์ทั้งสาม)นายสัมพันธ์ นายสมชาย โดยนางสนองผู้รับมอบอำนาจ บุตรนายชั้วซึ่งเกิดจากนางชลอน อีกฝ่ายหนึ่ง ดังต่อไปนี้” จากนั้นระบุรายการทรัพย์สินว่า รายการใดตกได้แก่ฝ่ายใด และลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายไว้ โดยเฉพาะฝ่ายจำเลยลงลายมือชื่อของจำเลยไว้ เอกสารหมาย ล.6 นี้ เป็นข้อตกลงระงับข้อพิพาทซึ่งจะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยสัญญา และเข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 แต่ปรากฏว่าบุตรของจำเลยยังเป็นผู้เยาว์ จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1574(8) ที่ได้ตรวจชำระใหม่ จำเลยจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์มิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต ไม่ปรากฏตามทางพิจารณาว่าจำเลยได้รับอนุญาตจากศาล จึงขัดกับบทกฎหมายข้างต้น ทั้งมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 113 ย่อมตกเป็นโมฆะ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1602/2519 ฉะนั้นไม่ว่าข้อตกลงเกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้จะตกได้แก่ฝ่ายโจทก์กับพวก หรือฝ่ายจำเลยกับบุตร ตามที่คู่ความโต้เถียงกันอยู่ ก็บังคับไม่ได้ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในอันที่จะคุ้มครองผู้เยาว์ แม้จะมิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาก็เห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบด้วยมาตรา 246และ 142(5) โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว ส่วนปัญหาว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้ที่ดินแปลงนี้โดยเหตุอื่นตามฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ โดยฟังข้อเท็จจริงว่า นายชั้วได้ทำพินัยกรรมยกที่พิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสามนายสัมพันธ์และนายสมชาย แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายต่อไปว่าคดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกมรดกจากผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายด้วยการแบ่งทรัพย์มรดกต้องแบ่งกันตามส่วนที่แต่ละคนมีสิทธิได้รับ เมื่อปรากฏว่าทายาทผู้มีสิทธิได้รับที่ดินแปลงนี้ตามพินัยกรรมมี 5 คน โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งคนละ 1 ใน 5 ส่วน เท่านั้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 1 ใน 5 ส่วน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share